ในอนาคต นักบินอวกาศ และลูกค้าของเราจะท่องอวกาศได้อย่างมีสไตล์ บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจด้านดาวเทียมและกิจการอวกาศสัญชาติไทย ทำการเปิดตัวชุดนักบินอวกาศของไทย
มิว สเปซฯ กำลังดำเนินการตามแผนที่จะเปิดตัวธุรกิจด้านการท่องเที่ยวอวกาศเชิงพาณิชย์เป็นเที่ยวบินแรกเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าที่สนใจภายในปีพ.ศ. 2564 ซึ่งในขณะนี้ทางมิว สเปซฯ กำลังอยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนาชุดนักบินอวกาศของบริษัทเพื่อใช้ในธุรกิจการท่องเที่ยวอวกาศในอนาคต
มิว สเปซฯ ได้เปิดตัวภาพแบบสามมิติชุดนักบินอวกาศของบริษัท ซึ่งในอนาคตนั้น ทั้งนักบินอวกาศและกลุ่มลูกค้าผู้ใช้บริการจะต้องสวมใส่ชุดดังกล่าวเพื่อเดินทางท่องเที่ยวในอวกาศ รวมไปถึงการเดินทางไปยังดวงจันทร์
ทั้งนี้ มิว สเปซฯ ได้พัฒนาชุดนักบินอวกาศด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง เพื่อให้แน่ใจได้ว่าชุดนักบินอวกาศดังกล่าวมีความปลอดภัยสำหรับลูกค้าที่จะเดินทางท่องเที่ยวไปกับบริษัท อีกทั้ง มิว สเปซฯ ได้ทำการวิจัยและพัฒนาชุดนักบินอวกาศเพื่อใช้ในโครงการดับเบิลโอมิชชั่น (OO mission Spacesuit) ของบริษัท ในการเดินทางไปดวงจันทร์ ดังนั้น ทางบริษัทจึงได้พัฒนาให้ชุดนักบินอวกาศดังกล่าว มีประสิทธิภาพสูงสุดในการเคลื่อนไหวร่างกายขณะสวมใส่ในอวกาศ เพื่อขับเคลื่อนยานพาหนะบนดวงจันทร์ รวมไปถึงการเพิ่มความยืดหยุ่นในการเคลื่อนไหวเพื่อเก็บตัวอย่างงานวิจัย และเดินสำรวจพื้นผิวโดยรอบดวงจันทร์
ในส่วนแบบชุดนักบินอวกาศสามมิติของมิว สเปซฯ นั้น จะเห็นได้ว่ามิว สเปซฯ ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยในแต่ละส่วนเพื่อใช้ประกอบเป็นชุดนักบินอวกาศ รวมไปถึงด้านหน้าของหมวกนักบินอวกาศที่ออกแบบให้เป็นหน้าจอการแสดงผลเพื่อติดตามสถานะของชุด และส่วนข้อมือแบบหน้าจอสัมผัสเพื่อควมคุมระบบการทำงานทั้งหมด รวมไปถึงโครงสร้างภายนอกที่ถูกออกแบบและควบคุมโดยระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มสมรรถภาพในการเดินทางท่องอวกาศ
“ชุดนักบินอวกาศของเราจะมีโครงสร้างและระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าที่เราได้เห็นในปัจจุบัน ซึ่งจะมีน้ำหนักเบา แต่ยังมีความคงทนต่อสภาพอากาศในอวกาศได้ เมื่อดูจากภาพออกแบบสามมิตินั้น คุณจะเห็นว่าเราได้รับแรงบันดาลใจมาจากตัวละครชื่อดังในภาพยนตร์ของมาร์เวลอย่าง ไอรอน แมน” นายวรายุทธ เย็นบำรุง ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งมิว สเปซฯ ได้กล่าว
“ชุดนักบินอวกาศจะต้องมีความปลอดภัยแก่ผู้สวมใส่ โดยจะต้องป้องกันความเย็นได้ระดับต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง รวมถึงป้องกันเศษอุกกาบาต และรังสีในอวกาศได้ ซึ่งในขณะเดียวกันนั้น ชุดนักบินอวกาศยังต้องสามารถให้ออกซิเจนได้อย่างเพียงพอแก่ผู้สวมใส่ และสามารถระบายคาร์บอนไดออกไซด์ออกได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย” นายวรายุทธกล่าวเพิ่มเติม
นายวรายุทธ แถลงว่า “ชุดนักบินอวกาศในโครงการดับเบิ้ลโอมิชชั่นนี้ (OO mission Spacesuit) ยังอยู่ในขั้นตอนการออกแบบ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วด้วยเทคโนโลยีทันสมัยที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ชุดนักบินอวกาศที่ใช้จริงในอนาคตอาจจะแตกต่างกับแนวคิดที่นำเสนอในวันนี้ได้”
ทั้งนี้ มิว สเปซ ยังมีเวลาอีก 3 ปี เพื่อวิจัยและพัฒนาชุดนักบินอวกาศที่สามารถใช้งานได้จริง ก่อนที่บริษัทจะเริ่มให้บริการธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศเป็นปฐมฤกษ์ในปีพ.ศ. 2564