7 สาเหตุหลักที่ทำให้ SME ไทยย่ำอยู่กับที่ ไม่ไปไหนสักที


ธุรกิจ SME ถือว่าเป็นธุรกิจที่อยู่คู่กับคนไทยมาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาภาครัฐ – เอกชน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของกลุ่มธุรกิจดังกล่าวในการเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงมีการออกนโยบายที่สนับสนุนและเป็นประโยชน์ในการทำธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม เราก็ยังพบว่าผู้ประกอบการ SME หลายรายยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ในการทำธุรกิจ โดยธนาคาร TMB ทำการวิเคราะห์สาเหตุว่าทำไม SME ไทยถึงไม่ได้ไปไหนสักที ซึ่งมี 7 เรื่องดังต่อไปนี้

1. ใช้เงินทุนโดยไม่วางแผน

รู้หรือไม่ว่า ผู้ประกอบการ SME ที่มาทำธุรกิจถึงร้อยละ 84 ส่วนใหญ่ ใช้เงินส่วนตัวหรือเงินของครอบครัวนำมาใช้เป็นจุดเริ่มต้นทำธุรกิจ ซึ่งตรงนี้หากทำผิดพลาด ไม่สำเร็จจะส่งผลกระทบทันที อีกทั้งผู้ประกอบการ SME ราว 27% เลือกที่จะใช้สินเชื่อ และการกดบัตรเครดิต เพื่อใช้เป็นเงินทุนตั้งต้นทำธุรกิจ โดยยอมแลกกับอัตราดอกเบี้ยที่สูง

2. ทำธุรกิจโดยไม่ใช้แผนธุรกิจ

ผู้ประกอบการ SME ร้อยละ 72 ยอมรับว่าถึงจะมีแผนธุรกิจ หรือไม่มี ก็ไม่เคยทำตามแผนเลย เนื่องจากหมดเวลาไปกับการแก้ปัญหาในแต่ละวัน ซึ่งการวางแผนทางธุรกิจจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ SME เติบโตอย่างยั่งยืน

3.ใช้เงินกระเป๋าเดียวกัน

ผลสำรวจ พบว่า ผู้ประกอบการ SME ร้อยละ 67 มีพฤติกรรมการใช้ “เงินธุรกิจ” กับ “เงินส่วนตัว” ปนกัน เช่น ให้ลูกค้าโอนเงินเข้ามาในบัญชีส่วนตัว ซึ่งจะทำให้เราไม่รู้ว่าแต่ละเดือนมีเงินเข้ามาเท่าไหร่ เพราะปะปนกันไปหมด รวมถึงการใช้จ่าย โดยไม่ได้จดบันทึกไว้ เหล่านี้บอกได้เลยว่าไม่เป็นผลดีต่อธุรกิจในระยะยาวอย่างแน่นอน

4.ยอดขายสูงแต่ไม่มีกำไร

ผู้ประกอบการ SME ร้อยละ 37 มีพฤติกรรมเสี่ยงขายของที่จะขาดทุนด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น การลดสินค้าโดยไม่พิจารณาถึงต้นทุน, ลืมใส่เงินเดือนตัวเองเข้าไปในต้นทุนสินค้า และขายสินค้าให้มากกว่าราคาวัตถุดิบก็เท่ากับได้กำไร

5. ทุ่มเวลาให้กับการผลิต จนไม่มีเวลาทำการตลาด

ผู้ประกอบการ SME ร้อยละ 87 ไม่มีเวลาทำการตลาด เพราะทุ่มเวลาไปกับกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็น การจัดหาวัตถุดิบ, การบริหารสต็อก, การสรรหาเทคโนโลยีใหม่ๆ, การทำบัญชี, การวิเคราะห์รายรับ – รายจ่าย, การบริหารพนักงาน, การพบปะลูกค้า ซึ่งหากผู้ประกอบการ SME ไม่มีเวลาทำการตลาดจะทำให้เสียโอกาสในการสร้างจุดเด่น หรือความแตกต่างที่มีต่อคู่แข่ง

6. ต้องฉายเดี่ยว

ผู้ประกอบการ SME ร้อยละ 70 ไม่สามารถหาตัวตายตัวแทนมาตัดสินใจทางธุรกิจได้เลย ส่วนร้อยละ 49 ยอมรับว่าธุรกิจเป็นอันต้องสะดุดหากตนเองไม่ได้อยู่บริหารในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จึงส่งผลให้ยดขายลดลงมาทันที

7.ไม่พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่

ผู้ประกอบการ SME ร้อยละ 62 มีการสรรหาสิ่งใหม่ๆ มาเพื่อพัฒนาธุรกิจอยู่เสมอ ขณะที่อีกร้อยละ 38 ไม่พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ๆ โดยให้เหตุผลว่า เกรงปัญหาในช่วงเริ่มต้น, ไม่อยากเปิดรับอะไรใหม่ และมองว่าธุรกิจของตนดีอยู่แล้ว