เศรษฐกิจแบบนี้ หลายคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือน คงเริ่มร้อนๆ หนาว ยิ่งช่วงนี้เราได้ยินข่าวบริษัทต่างๆ ปรับลดพนักงานอยู่บ่อยครั้ง จะดีกว่าไหมถ้าเราเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับบางสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น หรืออาจจะเกิดขึ้นแล้วกับใครบางคนไปแล้ว
ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเราเตรียมตัวมาดี ย่อมจะเจ็บตัวน้อยที่สุด วันนี้ Smart SME มีวิธีการรับมือ เมื่อต้องตกอยู่ในภาวะว่างงานมาฝากกันครับ
1. ขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน
โดยสามารถขอรับเงินทดแทนได้อยู่ที่ 30% ของเงินเดือน โดยเงินเดือนที่จะเอามาคิดสูงสุดอยู่ที่ ไม่เกิน 15,000 ดังนั้นเงินชดเชยที่ได้ จะได้ไม่เกิน 13,500 บาท
ซึ่งจะเป็นการทยอยจ่ายทีละเดือนๆ จนครบ 3 เดือน โดยที่แต่ละเดือนต้องมีการรายงานตัวทุกเดือน ทั้งนี้ เราสามารถ
ยื่นออนไลน์ผ่านระบบ แล้วก็รายงานตัวผ่านอินเตอร์เน็ตได้เช่นกัน แต่เน้นย้ำว่าขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานต้องทำภายใน 30 วันหลังออกจากงาน ขึ้นทะเบียนว่างงานเสร็จเรียบร้อย แล้วเรื่องประกันสังคมล่ะ เราจะยังไงต่อดี แนะนำว่าทำต่อไปเถอะ ถ้าทำต่อก็แค่เราไปยื่นเรื่องเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจมาตรา 39 โดยเราจะได้สิทธิคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลและเงินส่วนที่เป็นประกันชราภาพ จะได้ตอนเกษียณหรืออายุครบ 55 ปี โดยส่งเดือนละ 432 บาทเท่านั้นเองเอง
2. ตรวจสุขภาพการเงิน
เมื่อว่างงาน แน่นอนว่ารายรับของคุณจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แต่รายจ่ายส่วนใหญ่จะยังคงอยู่ ควรตรวจเช็คด่วนว่า มีสินทรัพย์ หนี้สิน เงินลงทุน ยังมีแหล่งรายได้ที่ยังเหลืออยู่บ้างไหม และมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ของตนเองและครอบครัวอยู่เท่าไร ทรัพย์สินอะไรที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดให้สมดุลกับภาระค่าใช้จ่ายที่ยังคงเหลืออยู่ ตรวจสอบว่าในแต่ละเดือนจะมีค่าใช้จ่ายอะไรที่จำเป็นต้องจ่ายบ้าง และค่าใช้จ่ายอะไรที่ไม่จำเป็น ในขณะเดียวกันต้องหารายได้ ถ้าไม่มีรายได้ แต่รายจ่ายยังคงมีอยู่ตลอด ก็อาจพบปัญหาขาดสภาพคล่องหรือภาษาบ้านเราก็คือถังแตก แนะนำให้ ระหว่างหางานใหม่ มีอะไรก็ทำไปก่อน หรือ อาชีพหนึ่งที่นิยมคือ รับจ้างขับรถ Grap Taxi , Grap bike , ก็ทำให้เรามีรายได้ในแต่ละเดือนมากพอสมควร
3. รื้อปรับขยับการใช้เงิน
เมื่อตรวจสอบสถานะการเงินเรียบร้อยแล้ว คุณคงพอทราบว่าตัวเองพอมีความมั่นคงทางการเงินเพียงใด รายได้ที่ยังเหลือกับทรัพย์สินที่มีอยู่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายและหนี้สินหรือไม่ หากมีไม่เพียงพอ ก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินอย่างเร่งด่วน สิ่งที่ต้องลดลงก่อนเป็นอันดับแรก ได้แก่ รายจ่ายฟุ่มเฟือย เช่น ท่องเที่ยว ช็อปปิ้ง ต่อมาคือการ ลดการทานอาหารนอกบ้านหรือมีราคาแพงให้น้อยลง พูดง่ายๆ คือใช้นโยบายรัดเข็มขัด สิ่งจำเป็นของคนตกงานคือควรจะจดบัญชีรับจ่าย จะได้รู้ว่า ค่าใช้จ่ายตัวไหนเป็นค่าใช้จ่ายหลัก หรืออาจเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ลดช็อปปิ้งของเซลล์ เพราะถ้าเผลอรูดบัตรไป เดือนหน้าไม่มีเงินเดือนเข้ามาช่วยจ่ายแล้ว จะเดือดร้อนไปกันใหญ่
4.เคลียร์เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
คนที่มีเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีสองทางเลือก ซึ่งต้องชั่งน้ำหนักดูว่า ควรเลือกทางเลือกไหน ทางเลือกที่ 1 คงเงินไว้ในกองทุนต่อไป จนกว่าจะได้งานใหม่ ค่อยย้ายกองทุนไปที่ทำงานใหม่ หรือทางเลือกที่ 2 เอาเงินออกจากกองทุน เพื่อนำมาใช้จ่าย ส่วนทางเลือกที่ 1 หรือ 2 ดีกว่ากัน ก็ต้องบอกว่า ขึ้นอยู่กับสุขภาพทางการเงินของคุณ และโอกาสที่คาดว่า จะหางานใหม่ได้เมื่อไหร่
5.ถนอมเงินก้อนที่ได้มา
เราขอเตือนคุณว่า ถ้าตกงาน เงินก้อนที่ได้มาอย่าเพิ่งรีบนำไปลดหนี้ คนส่วนใหญ่จะคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการจัดการเงินก้อนนี้ ก็คือ การเอาไปลดหนี้ เพื่อลดดอกเบี้ย แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การจัดสรรเงินให้เพียงพอต่อการดำรงชีพตามปกติ เพียงพอต่อการจ่ายคืนหนี้ได้ตามกำหนด
โดยต้องคิดออกมาให้ได้ว่าค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพรวมค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ และชำระบัตรเครดิตในแต่ละเดือนเป็นเท่าใด
จากนั้นก็ต้องกันเงินสำรองส่วนนี้ให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรกประมาณ 5 เท่า เพื่อเป็นหลักประกันว่า ยามว่างงานคุณจะยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติไปอีกอย่างน้อย 5 เดือน จนกว่าจะได้งานใหม่ และเมื่อกันเงินส่วนนี้ แล้วยังมีเงินก้อนเหลือ จึงค่อยพิจารณาว่าจะเอายังไงดี
6.มองหางานใหม่
ควรมองหางานใหม่ในทันทีไม่ต้องรีรอ ช่องทางการสมัครงานมีได้หลากหลายผ่านเว็บไซต์ของบริษัทต่างๆ หรือ ผ่านเว็บไซต์ของบริษัทจัดหางาน ยิ่งในช่วงนี้ มีการออกบูทของบริษัทจัดหางานตามศูนย์ประชุม หรือตามห้าง ก็ควรคอยดูจังหวะติดตาม ข้อมูลข่าวสาร การเปิดรับสมัคร เพราะคุณมีโอกาสได้เข้าเจอะเจอกับพนักงานฝ่ายทรัพยากรบุคคลโดยตรง หากมีข้อสงสัยของลักษณะงานจะได้สอบถามให้เข้าใจ หลายที่มีการสอบข้อเขียนก่อนการสอบสัมภาษณ์ ช่วงที่ว่างนี้ เดินสายสอบข้อเขียน สอบภาษาให้เรียบร้อย ก็เป็นตัวช่วยที่ทำให้ใบสมัครและประวัติของเราน่าสนใจ
7.ปัดฝุ่นเรซูเม
“เรซูเมดีมีชัยไปกว่าครึ่ง”
บางคนไม่ได้อัพเดทเลย ก็ควรนำมาอัพเดทว่า งานล่าสุดเราทำอะไร อยู่ในตำแหน่งไหน มีหน้าที่รับผิดชอบอะไรบ้าง ไปร่ำเรียนอะไรเพิ่มมา หรือผ่านคอร์สอบรมพิเศษ ที่ทำให้เรามีทักษะที่น่าสนใจ รูปถ่าย รูปเก่า ทรงผมเก่า ก็ได้เวลาไปปรับปรุงใหม่ ปรับลุคให้ดูทันสมัย
8.ใช้เวลานี้พัฒนาตัวเอง
ให้มองบวกๆ ไปเลยว่า นี่แหล่ะเป็นโอกาสทอง โดยเฉพาะทักษะด้านการสื่อสารในภาษาต่างประเทศ ฟัง พูด อ่าน เขียน และการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับ อาชีพใหม่ที่น่าสนใจแทนอาชีพเดิมได้
9.ผันตัวเป็นฟรีแลนซ์&จับงานพาร์ทไทม์
สิ่งหนึ่งที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนใฝ่ฝัน ก็คือ การเป็นเจ้านายตนเอง ไม่ต้องคอยเป็นลูกจ้างใคร แต่ในความเป็นจริงมีมนุษย์เงินเดือนเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่ “กล้า” ลาออกจากงานประจำมาทำงานอิสระเหล่านี้ ด้วยเหตุผลหลักคือเรื่องความมั่นคงของรายได้ ที่มักไม่เท่ากับการเป็นพนักงานกินเงินเดือน
ดังนั้น ช่วงเวลาว่างงานนี้คือโอกาสอันดี สำหรับการทดลองทำในสิ่งที่ชื่นชอบ โดยเริ่มจาก อะไรที่ตนเองถนัดหรือมีความเชี่ยวชาญ ก่อน ไม่แน่ว่าคุณอาจพบหนทางสว่างในอาชีพ และไม่ต้องกลับไปเป็นมนุษย์เงินเดือนเลยก็เป็นได้
สภาพเศรษฐกิจแบบนี้งาน full time อาจจะหายาก แต่ถ้าทำเป็นพาร์ทไทม์ หรือรับเป็นฟรีแลนซ์ ก็เป็นโอกาสที่น่าสน ก็เป็นโอกาสที่ไม่เลว บางทีคุณอาจจะเจอพรสวรรค์ของตนเองก็ได้ ซึ่งถ้าประสบความสำเร็จ อาจกลายมาเป็นอาชีพประจำของคุณในที่สุด
10.ถือโอกาสเติมไฟ เติมความรู้ เติมโอกาสให้ตัวเอง
หลายคนพอเวลาทำงานประจำก็จะโฟกัสอยู่กับเรื่องงาน จนไม่มีเวลา ออกไปหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ หาโอกาสอะไรใหม่ๆในชีวิต ทั้งๆที่ระหว่างที่ทำงานอยู่เราก็มักจะเพ้อฝันกับตัวเองว่า สักวันหนึ่งเราจะต้องมีธุรกิจเป็นของตัวเอง นี่แหล่ะครับ ช่วงเวลาที่พร้อมจะตามหาฝันของคุณ
เริ่ม…..
Smart SME หวังว่าข้อแนะนำเหล่านี้ จะทำให้คนตกงานหรือ คนที่ส่อเค้าว่าอาจจะตกงาน มีชีวิตที่ดีและมีทางเลือกให้กับอนาคตงานใหม่หรือธุรกิจใหม่ของคุณได้ดีขึ้นด้วย