“ไทยชนะ” ไม่ใช่แค่แอปฯ แต่มันคือแพลตฟอร์มเสริมมาตรการผ่อนปรนสู้โควิด-19


โฆษก ศบค. ชี้แจงเกี่ยวกับแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ที่จะนำมาช่วยเสริมมาตรการผ่อนปรนในเฟส 2 ระบุว่าสิ่งนี้ไม่ใช่แอปพลิเคชัน แต่เป็นรูปแบบแพลตฟอร์มที่เปิดให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ไทยชนะ.com สำหรับร้านค้าและบริการที่ต้องทำการบันทึกข้อมูลผู้ใช้งานในช่วงที่มีมาตรการผ่อนปรน

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) หลังจากได้อธิบายถึงแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ว่าก่อนหน้านี้มีการสื่อสารกันไปว่า “ไทยชนะ” เป็นแอปพลิเคชัน แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ มันเป็นอะไรที่ใหญ่กว่าแอปฯ นั่นก็คือการเป็น “แพลตฟอร์ม” ที่ให้บริการผ่านทางเว็บไซต์ www.ไทยชนะ.com ซึ่งจะดำเนินการโดยธนาคารกรุงไทย

ภายในแพลตฟอร์มนี้ก็จะประกอบไปด้วยฟีเจอร์การใช้งานต่าง ๆ รวมถึงแอปฯ ย่อย ๆ ก็จะมีรวมอยู่ในนั้นด้วย ขอให้เรียกว่าว่าเป็น “แพลตฟอร์มไทยชนะ”

สำหรับวิธีการใช้งานนั้นแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ

1. ส่วนของผู้ประกอบการร้านค้า

ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องไปลงทะเบียนใน www.ไทยชนะ.com เพื่อให้ได้คิวอาร์โค้ดออกมา โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนพรุ่งนี้ วันที่ 17 พ.ค. 63 เวลา 06.00 น. จะเห็นว่าด้านล่างของเว็บไซต์มีปุ่มให้กดดาวน์โหลด “คู่มือการลงทะเบียนร้านค้า” ก็สามารถโหลดมาอ่านทำความเข้าใจล่วงหน้า

ซึ่งก็จะเป็นการให้ใส่ข้อมูลรายละเอียดของร้านค้าของท่าน จากนั้นท่านก็จะได้คิวอาร์โค้ดมา จากนั้นก็ทำการพิมพ์คิวอาร์โค้ดอันนั้นออกมาติดไว้ที่ทางเข้าหน้าร้าน ประโยชน์คือท่านจะได้ไม่ต้องมาคอยคัดกรองจดชื่อและเบอร์โทรลูกค้าให้ยุ่งยากอีกต่อไป เพียงแค่แนะนำลูกค้าว่าให้สแกนคิวอาร์โค้ดดังกล่าวในการเช็คอินและเช็คเอาท์

ผู้ประกอบการไม่ต้องเสียเวลามาจัดระบบคัดกรองลูกค้าเอง ปล่อยให้ระบบนี้ทำแทนได้เลย สมมติร้านอาหารคนนั่งได้เท่าไหร่ก็ใส่จำนวนเข้าไป พอคนเข้าร้านเต็ม ระบบจะโชว์เลยว่าร้านนี้มีคนเต็มหนาแน่นแล้ว ไม่ควรเข้าไปเพิ่ม เพราะเป็นการเสี่ยงติดเชื้อ และช่วยลดการแออัด ไม่ต้องให้ลูกค้าต้องยืนรอนาน

2. ส่วนของประชาชนผู้ใช้บริการ

เมื่อจะเข้าไปใช้บริการในห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านตัดผมต่าง ๆ ก็เพียงแค่หยิบสมาร์ทโฟน เปิดไปที่กล้องถ่ายรูป แล้วนำมาสแกนคิวอาร์โค้ดที่ทางผู้ประกอบการร้านค้าได้ติดตั้งไว้ที่หน้าร้าน เพื่อเป็นการเช็คอินเข้าร้าน และตอนออกจากร้านก็เช็คเอาท์ด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ดอีกครั้ง แค่นั้นก็เรียบร้อย

ประชาชนไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปแล้วต้องยืนรอนาน ๆ ที่หน้าร้าน และช่วยแจ้งเตือนให้ทราบว่าห้างร้านที่ต้องการไปใช้บริการนั้นมีคนเต็มหรือหนาแน่นแล้วหรือยัง หากหนาแน่นแล้วก็สามารถเลือกไปที่อื่นได้โดยไม่เสียเวลา