6 ไอเดียปรับลดค่าใช้จ่ายสำหรับร้านอาหาร เพื่อผลกระทบที่น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด


ร้านอาหารเป็นหนึ่งในธุรกิจสีแดงที่เข้าข่ายเสี่ยงเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อมากที่สุดในสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้ถูกสั่งปิด และไม่สามารถเปิดขายแบบนั่งทานที่ร้านได้อีก

และถึงแม้ร้านอาหารต่างๆ จะเปลี่ยนกลยุทธ์จากขายหน้าร้านมาเป็นการส่งเดลิเวอรีถึงบ้านแทน แต่นั่นก็ยังทำให้ยอดขายร้านอาหารลดลงไปมากกว่า 50% อยู่ดี ดังนั้นทุกร้านอาหารจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น และประคองร้านให้สามารถมีสภาพคล่องทางการเงินที่เพียงพอจนถึงวันที่สถานการณ์กลับมาสู่ช่วงปกติได้ โดย 6 ไอเดีย Save Cost เหล่านี้ช่วยคุณได้แน่นอน

1. ขอลดค่าเช่าที่

มีร้านอาหารมากมายที่ไม่ได้สร้างอยู่บนพื้นที่ของตัวเอง แต่ใช้การเช่าพื้นที่ ทำเลดีๆ ในการขาย ซึ่งตรงนี้คือหนึ่งในค่าใช้จ่ายหลักของธุรกิจอาหารที่ต้องเสียไปหลักหมื่น ถึงหลักแสนทุกเดือน ซึ่งในช่วงโควิด-19 ที่ไม่มีรายได้เข้ามาเลยนี้หากยังคงต้องจ่ายค่าเช่าที่แบบเต็มจำนวน จะยิ่งทำให้สภาพคล่องทางธุรกิจของคุณสะดุด และมีโอกาสต้องปิดตัวได้ในเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้นควรทำเรื่องขอลดค่าเช่า หรือการจ่ายเงินค่าเช่าพื้นที่เปิดร้านให้เลื่อนออกไป 2-3 เดือน จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น และคุณสามารถทำเงินได้ตามปกติ เพื่อประคองให้ร้านของคุณรอดจนกลับมาทำเงินได้อีกครั้ง

2. ขอเครดิตวัตถุดิบเพิ่ม

นอกจากค่าเช่าที่แล้ว วัตถุดิบเองก็เป็นส่วนสำคัญที่คุณต้องจ่ายเป็นประจำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถึงแม้ร้านจะไม่เปิด แต่ธุรกิจไม่ได้ปิด 100% คุณยังต้องทำอาหารส่งลูกค้า และวัตถุดิบเหล่านั้นยังคงต้องใช้งานอยู่ดี แต่เพราะการจ่ายเงินเต็มจำนวนอาจส่งผลต่อสายป่านธุรกิจคุณ ดังนั้นการขอเครดิตเพิ่ม หรือนำของมาก่อน แล้วจ่ายรวบยอดในเดือนต่อๆ ไป รวมถึงทยอยจ่ายได้ ก็จะเป็นการสร้างความอุ่นใจให้คุณวางแผนล่วงหน้าได้เป็นอย่างดี

3. เลื่อนแผนแต่งร้านออกไปก่อน

เมื่อทำธุรกิจมานาน สภาพร้านอาหารของคุณอาจทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา ซึ่งบางคนอาจมีแผนที่จะปรับปรุงร้าน รีโนเวทใหม่ ให้น่าสนใจกว่าเดิม ซึ่งแผนตรงนี้ควรหยุดหรือเลื่อนออกไปก่อน เพราะสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอน 100% นี้ การมีเงินสดติดตัวไว้จำนวนมากเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

4. เหลือไว้แต่เมนูที่ทำง่าย ใช้วัตถุดิบไม่มาก

จากปกติคุณอาจเคยขายอาหารที่มีเมนูหลากหลาย แต่ในช่วงสถานการณ์แบบนี้คุณควรปรับลดเมนูลง ให้เหลือเฉพาะเมนูที่สามารถทำได้ง่าย ๆ และใช้วัตถุดิบต่าง ๆ ไม่มาก ลดส่วนผสมลงเล็กน้อย แต่ต้องคงคุณภาพและปริมาณ รวมถึงความอร่อยที่เท่าเดิม ซึ่งตรงนี้จะช่วยให้คุณเหนื่อยน้อยลง และทำกำไรได้ดีขึ้น คุ้มค่ากับทุกออร์เดอร์ที่จัดส่ง

5. ลดพนักงานในร้านลง เหลือไว้แค่ที่จำเป็น

การปรับลดจำนวนพนักงานเองก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การเอาตัวรอดของธุรกิจเช่นกัน ซึ่งช่วงนี้คุณควรจะเปลี่ยนพนักงานที่ไม่จำเป็นบางคนออก ปรับลดจำนวนลงให้เหลือเฉพาะคนที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น เช่น พ่อครัว พนักงานบัญชี เป็นต้น ส่วนพนักงานเสิร์ฟนั้นหากคุณไม่ได้ทำการเดลิเวอร์รีด้วยบริการตัวเอง ก็มีบริษัทเดลิเวอร์รีอีกมากมายที่พร้อมจะขับมอเตอร์ไซค์เข้ามารับออร์เดอร์คุณแทน โดยที่ไม่ต้องเสียเงินจ้างพวกเขาเลย นับว่าเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มากทีเดียว

6. เปิดร้านเฉพาะช่วงที่ขายดี

สุดท้ายแล้วคุณสามารถจ้างพนักงานเป็นพาร์ทไทม์ หรือฟรีแลนซ์ ให้ทำงานเฉพาะช่วงเวลาที่คุณต้องการได้ เป็นการลดค่าใช้จ่ายที่ได้ผลดีที่สุดอีกเช่นกัน โดยคุณไม่จำเป็นต้องเปิดร้านตามเวลาเดิม แต่เลือกเปิดในช่วงโมงที่ขายดีเท่านั้น ก็จะช่วยให้เหนื่อยน้อยลง ได้เงินปกติ แต่ลดค่าใช้จ่ายด้านพนักงานประจำไปได้ เหลือจ่ายเป็นรายชั่วโมงแทน