การปรับตัวของธุรกิจโรงแรม เพื่อรับการกลับมาของนักท่องเที่ยว


ธุรกิจโรงแรมในเอเชียแปซิฟิกยังคงคาดหวังว่า ตลาดลูกค้าภายในประเทศจะสามารถฟื้นตัวได้เร็วหลังวิกฤติการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และคาดด้วยว่าลูกค้าต่างชาติจะค่อย ๆ ทยอยกลับเข้ามาในระยะต่อไป

จากรายงานของบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ พบว่าระหว่างนี้เจ้าของและผู้ประกอบการโรงแรมหลายรายพยายามสร้างเสริมระบบด้านสุขอนามัยและความสะอาดภายในโรงแรมเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าที่ยังคงเข้าใช้บริการในช่วงนี้ และที่จะกลับเข้ามาใช้บริการมากขึ้นหลังสถานการณ์โรคระบาดสิ้นสุดลง

เร็ว ๆ นี้ เครือบริหารโรงแรมระดับโลกอย่าง ไฮแอท, แมริออท, โฟร์ซีซั่นส์ และฮิลตัน ได้ประกาศมาตรการด้านความปลอดภัย อาทิ การใช้เทคโนโลยีสเปรย์ระบบไฟฟ้าสถิตพ่นน้ำยาค่าเชื้อบนพื้นผิวห้องและวัตถุต่าง ๆ การร่วมกับบริษัทบริการทำความสะอาดฆ่าเชื้อ และการใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพให้เข้ามาเป็นผู้ร่วมกำหนดแนวทางและต้นแบบใหม่สำหรับแผนงานด้านสุขอนามัยของโรงแรม เช่นเดียวกับเครือบริหารโรงแรมของไทยอย่าง กลุ่มโอนิกซ์ และกลุ่มอนันตรารีสอร์ท รวมจนถึงกลุ่มโอโวโลจากฮ่องกง ที่มีการยกเครื่องมาตรการความปลอดภัยด้านสุขภาพของโรงแรมในเครือด้วยเช่นกัน

 

นายอเล็กซ์ ซิเกด้า รองประธานฝ่ายบริหารสินทรัพย์ หน่วยธุรกิจบริการที่ปรึกษาด้านโรงแรมของเจแอลแอล กล่าวว่า “ในขณะที่ภาคธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ทกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ความพยายามต่าง ๆ ในการรับมือกับผลกระทบจากโควิด-19 ได้เร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้เกิดเร็วยิ่งขึ้น โดยมาตรการต่าง ๆ ที่เจ้าของและผู้ประกอบการโรงแรมดำเนินอยู่ในขณะนี้ เน้นที่การสร้างความมั่นใจในด้านความปลอดภัยของผู้เข้าใช้บริการและการได้รับการรับรองมาตรฐานที่เข้มงวดด้านสุขอนามัย”

ปรับตัวเพื่อรับ New normal

เอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคแรกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเป็นภูมิภาคแรกที่มีสัญญาณของสถานการณ์ที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน

ปริมาณการเดินทางในจีนเริ่มปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยในเทศกาลวันแรงงานที่มีวันหยุดติดต่อกันห้าวันเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ มีรายงานปริมาณการเดินทางภายในจีนรวมมากถึง 115 ล้านเที่ยว

 

 

ส่วนที่เกาหลีใต้ สายการบินเอเชียนนาแอร์ไลน์และโคเรียนแอร์ได้กลับมาให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศในความถี่เท่าเดิม

ทางด้านเวียดนาม รัฐบาลได้ประกาศผ่อนปรนมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมและกลับมาเปิดการท่องเที่ยวภายในประเทศ เช่นเดียวกับไทยที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ลง

สัญญาณบวกที่กำลังเกิดขึ้นดังกล่าว เร่งให้โรงแรมต้องคิดใหม่เกี่ยวกับรูปแบบการให้บริการต่าง ๆ ที่ดำเนินอยู่ เพื่อเตรียมรองรับการกลับมาของลูกค้า อาทิ การจัดไลน์อาหารบุฟเฟต์ ขั้นตอนการเช็คอินและเช็คเอาท์ รวมจนถึงการจัดสรรการใช้พื้นที่ในบริเวณล็อบบี้ ห้องจัดเลี้ยง-จัดประชุม และห้องพัก อีกทั้งยังมีการทบทวนการออกแบบเมนูต่าง ๆ การจัดที่นั่ง และระบบจัดการการจองคิว

โดยเน้นความสำคัญมากขึ้นด้านสุขอนามัยและการป้องกันการปนเปื้อน นอกจากนี้ ยังมีการปรับเปลี่ยนโปรแกรมบริการสถานที่จัดเลี้ยงและการประชุมเพื่อให้สอดรับกับข้อกำหนดด้านความปลอดภัยในส่วนที่เกี่ยวกับบริการอาหารและการรักษาระยะห่างทางสังคม รวมไปจนถึงการพิจารณาปรับปรุงระบบไอทีเพื่อให้สามารถรองรับการประชุมทางไกลที่เพิ่มมากขึ้น

เอเชียเป็นภูมิภาคแรกที่กลุ่มโรงแรมกำลังอยู่ในระหว่างประเมินวิธีที่จะให้บริการกับนักท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวหลังจากเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ภายใต้เงื่อนไขใหม่ทั้งในเรื่องของเกณฑ์การปฏิบัติและความคาดหวังต่าง ๆ

 

 

โรงแรมมาร์โค โปโล ปรินส์ซึ่งอยู่ระหว่างปรับปรุงในขณะนี้ กำลังขยายคลับเลาจ์ให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้น 30% เพื่อให้ผู้เข้าใช้บริการมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันได้ปรับลดพื้นที่สถานที่จัดประชุม-จัดเลี้ยงเพื่อรองรับการจัดงานที่เล็กลง นอกเหนือจากการเพิ่มพื้นที่ในชั้นและการออกแบบที่ช่วยลดความแออัดและสอดรับมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมแล้ว อาจมีการเพิ่มจำนวนลิฟต์เพื่อลดความหนาแน่นของผู้ใช้ หรือแม้แต่ปรับลิฟต์ขนของให้เป็นลิฟต์โดยสารในช่วงเวลาที่มีแขกจำนวนมากใช้บริการพร้อมกัน

รายละเอียดปลีกย่อยเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้รับความสำคัญด้วยเช่นกัน ในส่วนของโรงแรมและห้องอาหาร มีการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์และวัสดุพื้นผิวที่สามารถป้องกันเชื้อจุลินทรีย์ และง่ายต่อการทำความสะอาด

ตัวเลือกด้านเทคโนโลยี

โรงแรมหลายแห่งกำลังลงทุนด้านเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าพักได้รับความสะดวกสบายและปราศจากการแตะสัมผัส ในขณะที่เทคโนโลยีเช็คอินผ่านมือถือและบัตรผ่านเข้าออกแบบดิจิตอลที่มีการใช้อย่างแพร่หลายอยู่แล้ว แต่เมื่อมีโรคระบาดขึ้นทำให้เทคโนโลยีเหล่านี้ มีความสำคัญยิ่งขึ้นไปอีก

 

 

ยานอลจา (Yanolja) สตาร์ทอัพมูลค่ากว่าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐในธุรกิจออนไลน์ด้านการเดินทาง เปิดเผยว่า สถานีบริการตนเองที่บริษัทประกาศเปิดตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว มีความต้องการเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยนายจอง ยุน คิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า บริษัทกำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ผู้ให้บริการที่พักสามารถรับเช็คอินได้ง่ายๆ โดยใช้เพียง QR code

 

 

การใช้หุ่นยนต์ที่พัฒนาโดยบริษัท ซอฟต์แบงค์ โรโบติกส์กับโรงแรมในโตเกียวที่ใช้เป็นโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง โดยนอกจากจะให้บริการต่าง ๆ ที่จำเป็น รวมถึงการส่งอาหารให้กับผู้ป่วยในห้องแล้ว หุ่นยนต์เหล่านี้ยังถูกตั้งโปรแกรมให้สามารถมีปฏิสัมพันธ์และให้กำลังใจผู้ป่วยได้ด้วย

 

 

มีความเป็นไปได้ที่โรงแรมจะพิจารณาเทคโนโลยีอื่น ๆ อย่างตู้ฆ่าเชื้ออัจฉริยะ หรือเทคโนโลยีสแกนตรวจจับเชื้อโรคด้วยรังสีอัลตราไวโอเล็ตสำหรับในการทำความสะอาดห้องพัก และระบบเช็คอินที่สามารถติดตามเพื่อติดต่อผู้เข้าพักได้ นอกจากนี้ เทคโนโลยีจดจำใบหน้าและเอไอ คาดว่าจะเข้ามามีบทบาทในธุรกิจโรงแรมมากขึ้น

ยังมีการคาดการณ์ด้วยว่า ข้อมูลจะมีความสำคัญมากขึ้นในการดำเนินการโดยทั่วไปของโรงแรม โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นห้องอาหารและสถานที่ที่นิยมใช้สำหรับเป็นที่จัดเลี้ยง-จัดประชุม โรงแรมอาจมีการใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการอาคารและพื้นที่ อาทิ เทคโนโลยีควบคุมการหมุนเวียนของอากาศ การดูแลคุณภาพของอากาศและน้ำ การตรวจวัดระดับความชื้นในอาคาร และการบริหารจัดการจำนวนคนในพื้นที่ส่วนกลางเพื่อป้องกันความแออัด

แม้ภาคธุรกิจโรงแรมจะอยู่ในภาวะชะงักงันขณะนี้ แต่แน่นอนว่าในท้ายที่สุด นักท่องเที่ยวจะกลับมา เมื่อถึงวันนั้น ประสบการณ์ที่โรงแรมจะมอบให้กับผู้ใช้บริการจะต้องสอดรับกับ New normal หรือวิถีชีวิตใหม่ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ความคาดหวังที่เพิ่มสูงขึ้นของนักท่องเที่ยวในด้านความเป็นส่วนตัว ความมั่นคงและความปลอดภัย

อ้างอิง: JLL