เทรนด์ธุรกิจตามบริบท New Normal “ลดขนาดองค์กร-พนักงานต้องเก่งหลายด้าน”


ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจต่าง ๆ ที่ต้องหยุดชะงักให้บริการเป็นระยะเวลาเกือบ 2 เดือน แม้ว่าบางธุรกิจจะสามารถกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง แต่ก็ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรกว่าจะกลับมาเข้าสู่สภาวะปกติ

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ คือการแพร่ระบาดได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ และตลาดแรงงานที่ก่อให้เกิดวิถี New Normal ที่บริบทของการดำเนินกิจการจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย มองเรื่องนี้ว่าตลาดแรงงานจะมีการเปลี่ยนแปลงบนบริบท New Normal 7 เรื่องดังต่อไปนี้

1. Business Downsize: การลดขนาดองค์การให้เล็กลง

องค์กรต่าง ๆ จะมีการลดขนาดให้เล็กลง และเทคโนโลยีที่เป็น “Disruptive Technology” เข้ามาช่วยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น AI, Robots, Smartphone, Internet of things, Automation ฯลฯ

2. Labour Demand Changing: ภูมิทัศน์ตลาดแรงงาน

นายจ้างจะคัดกรองคนเข้ามาทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกับคนที่ทำงานอยู่แล้วอาจถูกลดขนาดด้วยการเปิดโครงการสมัครใจลาออกในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานสูงวัย

3. New Job Challenge: ตลาดแรงงานใหม่ภายใต้แพลตฟอร์มดิจิทัล

การลดขนาดองค์กรส่งผลให้ตำแหน่งงานถูกกระจายไปสู่ฟรีแลนซ์ และเอาท์ซอร์ซ เช่น งานการตลาด, งานบัญชี, งานบริการลูกค้า, งานปฏิบัติการ, งานที่เกี่ยวกับคลังสินค้า และโลจิสติกส์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีสำนักงานในลักษณะ“non-office worker”

4. Worth Returned Conceptual: แนวคิดความคุ้มค่าและมีค่าต่อองค์กร

คนที่อยู่ตำแหน่งอย่างมั่นคงถึงวัยเกษียณต้องมีการปรับทัศนคติใหม่ ทั้งในเรื่องการเพิ่มผลิตภาพของตนเอง เพื่อยกระดับให้มีความคุ้มค่า และคุณค่าต่อองค์กรในอนาคตที่บางตำแหน่งงานจะหายไป

5. First Labour Aged Demand: เป็นโอกาสของแรงงานวัยตอนต้น

แรงงานใหม่ต้องสามารถตอบโจทย์สภาวะแวดล้อมธุรกิจการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมือนเดิมวัยแรงงานตอนต้นยังมีความต้องการสูงที่ผ่านมาแรงงานอายุ 18-29 ปี ความต้องการจ้างงานติดลบประมาณร้อยละ -14.6

6. Digital Platform Direction: ตัวกำหนดทิศทางธุรกิจ

ธุรกิจโลจิสติกส์ ทั้งภาคการผลิต, ภาคบริการ, ค้าส่ง-ค้าปลีก เป็นจุดแข็งของแรงงานตอนต้นที่มาจาก Gen Z มีความคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีทำให้สามารถปรับตัวได้เร็วกว่ากลุ่มวัยอื่น

7. Skill Change การเปลี่ยนแปลงของทักษะใหม่

ความต้องการของตลาดแรงงานไม่เหมือนเดิมแม้แต่แรงงานวัยตอนต้นล้วนมีความเสี่ยงสะท้อนจากแรงงานใหม่จบระดับอุดมศึกษามีการว่างงานสูงสัดส่วนถึงร้อยละ 29.5 ของผู้ว่างงานทั้งหมด ขณะเดียวกันแรงงานใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.2 จบปริญญาตรีในสาขาที่ล้าสมัยไม่ตรงกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะการด้อยคุณภาพของแรงงานใหม่