“ทางด่วนแก้หนี้” โดยแบงก์ชาติ เชื่อมเจ้าหนี้-ลูกหนี้ ปรับหนี้ร่วมกัน!


ติดต่อสถาบันการเงินไม่ได้ โทร.ไม่ติด. เป็นหนี้เสียไม่รู้แก้ยังไง ปรับโครงสร้างแล้ว ก็ยังไม่รอด ไปที่นี่เลย www.1213.or.th “ทางด่วนแก้หนี้” เชื่อมเจ้าหนี้-ลูกหนี้ ปรับหนี้ร่วมกัน

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ มีผู้ประกอบการจำนวนมากต้องปิดการ มนุษย์เงินเดือนหลายคนตกงาน รายได้ของประชาชนลดลง ส่งผลให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ขณะที่ค่าใช้จ่ายต่างๆ ยังคงเท่าเดิมหรือเพิ่มสูงขึ้น

ส่งผลให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับหนี้สินตามมา โดยเฉพาะคนที่มีภาระหนี้อยู่แล้ว ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ที่สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้ประชาชนและธุรกิจ SME ทั้งที่มียังเป็นลูกหนี้ดีสถานะปกติ แต่ขาดสภาพคล่องชั่วคราว หรือเป็นหนี้เสีย หรือปรับโครงสร้างหนี้แล้ว

ซึ่งปัญหาเกิดจาก เช่น พยายามติดต่อสถาบันการเงินแล้วแต่ไม่ได้ เพราะช่วงนี้อาจมีผู้โทร.ติดต่อเข้าไปมาก ติดต่อสถาบันการเงินแล้ว แต่เรื่องไม่คืบหน้า หรือข้อเสนอยังไม่ช่วยลดภาระได้จริง หรือยังหาข้อยุติร่วมกับสถาบันการเงินไม่ได้

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงเปิดช่องทาง “ทางด่วนแก้หนี้” ขึ้น ผ่านศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน หรือ ศคง. เพื่อเป็นช่องทางเสริมสำหรับให้ประชาชนหรือธุรกิจแจ้งขอความช่วยเหลือด้านการผ่อนชำระหนี้ เป็นช่องทางเสริมสำหรับปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือต้องการความช่วยเหลือให้สามารถแจ้งความต้องการไปที่สถาบันการเงิน โดย ธปท.จะส่งข้อมูลที่ได้รับไปยังผู้ให้บริการหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป

ผู้ที่ประสงค์จะร้องเรียน แจ้งเบาะแส หรือสอบถามเรื่องอื่น สามารถติดต่อได้ที่ โทร. 1213 อีเมล [email protected] หรือหน้าเว็บไซต์ ศคง. www.1213.or.th

โดยเบื้องต้น “ทางด่วนแก้หนี้” จะให้เรากรอกข้อมูลผ่าน “ทางด่วนแก้หนี้” www.1213.or.th 1 รายการคำขอ ต่อสถาบันการเงิน 1 แห่ง ให้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน และให้เบอร์ที่ติดต่อกลับได้ หากไม่ได้รับการติดต่อกลับภายใน 15 วันหลังยื่นเรื่อง ให้โทร.สอบถามกลับไปที่ ศคง.ที่เบอร์ 1213

เมื่อลูกหนี้แจ้งข้อมูลผ่านเว็บไซต์ “ทางด่วนแก้หนี้” แล้ว เรื่องจะถูกส่งให้สถาบันการเงินเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามดุลยพินิจ หรือหากจำเป็นในบางกรณีแบงก์ชาติอาจช่วยหารือและไกล่เกลี่ยหาแนวทางที่พอจะทำได้ เพื่อช่วยให้ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ได้ประโยชน์ร่วมกัน