เริ่มต้นธุรกิจด้วยงบไม่ถึงแสน ทำจากเล็ก ๆ ประหยัดงบขั้นสุดแบบ Lean Startup


การทำธุรกิจ หลายคนมักคิดว่าจะต้องใช้เงินมหาศาล หลักล้านบาทถึงจะเริ่มต้นได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมีธุรกิจอีกมากมายที่รัดเข็มขัดตัวเองตั้งแต่วันแรก และก่อตั้งธุรกิจด้วยเงินหลักพัน หลักหมื่น และเขาเหล่านั้นไม่ได้มีอะไรพิเศษกว่าคุณ เพียงแต่เขามีกระบวนการคิด และวิธีการสร้างธุรกิจในแบบที่มันควรจะเป็นโดยการ Lean ทุกอย่างให้ใช้เงินน้อยที่สุด 

ซึ่งหลักแนวคิดนี้เป็นสิ่งที่ธุรกิจ Startup ส่วนใหญ่ใช้กัน เพราะเขาต้องการทดสอบตลาดก่อนว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นจะมีคนใช้บริการหรือไม่ จึงต้องทำจากอะไรที่ถูก ประหยัด และฟรีทั้งหมดก่อน และเริ่มธุรกิจจากน้อย ๆ เพื่อให้ได้กำไรที่สูงมากขึ้น ซึ่งนี่เป็นเทคนิคที่ทุกธุรกิจสามารถทำได้ เพื่อเริ่มดำเนินกิจการตามที่คุณฝันไว้

1. ใช้งานของฟรีทุกอย่าง

เริ่มต้นจากการมองหาของฟรีรอบตัวมาใช้งานก่อนเป็นอย่างแรก เพราะการทำธุรกิจคุณต้องไม่ลงทุนในสิ่งที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะได้กำไรกลับมา การลงทุนไปก่อนทั้งที่ยังไม่ชัวร์ในเรื่องต่าง ๆ จะทำให้คุณอาจเสียเงินฟรี ซึ่งเครื่องมือมากมายในยุคนี้เปิดให้เราได้ใช้บริการกันแบบไม่เสียเงิน เช่น สร้างเพจเฟซบุ๊กร้านค้าตัวเองขึ้นมา หรือสร้างเว็บไซต์ฟรี พร้อมโปรโมตผ่านช่องทางออนไลน์ แทบทุกอย่างไม่มีอะไรเสียเงินทั้งสิ้น

2. อย่าเพิ่งซื้อออฟฟิศ

ถึงแม้การทำธุรกิจให้เป็นกิจจะลักษณะจะช่วยให้งานคุณเดินไปได้อย่างรวดเร็ว เรียบร้อย และดูเป็นระบบจริงจังมากกว่า แต่การลงทุนเปิดออฟฟิศตั้งแต่วันแรก จะทำให้คุณต้องลงทุนสูงมาก ทั้งค่ามัดจำล่วงหน้า ค่าวัสดุอุปกรณ์ในการตกแต่ง และอีกมากมายที่จะต้องเสียไป ทางที่ดีคุณอาจเริ่มจากการทำงานที่บ้านแบบ Home Office และเมื่อมีคนเยอะ ถึงจะขยับขยายก็สามารถทำได้ทีหลัง เพื่อ Lean ทุกค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุด

3. อย่าทุ่มงบให้กับการตลาด

หลายคนมักคิดว่าการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ คือการทุ่มงบให้กับการตลาด เพื่อให้คนเห็นและกลับมาตัดสินใจซื้อบริการจากคุณ แต่ในความจริงนั้น หากคุณยังไม่มั่นใจว่าธุรกิจคุณจะทำเงินได้จริงหรือไม่ คุณไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าโฆษณาที่สูงขนาดนั้น ทางที่ดีควรมองหาช่องทางโปรโมตที่ฟรีมากกว่า เช่น การใช้กลุ่มเฟซบุ๊กในการเข้าถึงเป้าหมาย การฝากร้านตาม IG หรือการโปรโมตในท้องถิ่นผ่านสื่อออฟไลน์ที่มีค่าบริการที่ถูกกว่า เป็นต้น

4. ใช้บริการฟรีแลนซ์แทนพนักงานประจำ

ข้อนี้เป็นสิ่งที่หลายคนลืมคิดไป ว่าการจ้างพนักงานประจำนั้นกินงบประมาณมากกว่าการจ้างฟรีแลนซ์เยอะมาก เพราะพนักงานประจำจะมีสวัสดิการต่าง ๆ ขาด ลา มาสายได้หมด แถมการที่ได้รับเงินเดือนทุกเดือน จะส่งผลให้เขาอาจจะขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน ผลิตผลงานออกมาเรื่อย ๆ โดยไม่มีการพัฒนา ต่างจากฟรีแลนซ์ที่ถ้าคุณไม่ได้จ้าง ก็ไม่ต้องเสียเงิน ต่อให้ไม่มีงานก็ไม่ต้องจ่ายเงินฟรี รวมถึงเขาต้องแข่งขันกับคู่แข่งรอบตัว เพื่อแอคทีฟตัวเองให้มีผลงานที่ดีตลอดเวลา และขายลูกค้าอย่างคุณได้นั่นเอง จึงมั่นใจได้ว่าคุณจะจ่ายเงินน้อยกว่า แต่ได้ผลงานคุณภาพที่มากกว่าหรือเท่ากันแน่นอน

5. ใช้ของมือสองที่หาได้

ของมือสองไม่ใช่ของไม่ดี เพียงแต่เจ้าของเก่าเขาอาจจะไม่ได้ต้องการแล้วเท่านั้นเอง ซึ่งอุปกรณ์สำนักงานในการทำงานนั้นมันมีเยอะมาก หากต้องซื้อของมือหนึ่งใหม่ทั้งหมดอาจทำให้คุณต้องลงทุนสูงได้ ดังนั้นการเลือกใช้ของมือสองบ้างจึงเป็นตัวเลือกที่ดี สิ่งไหนที่ต้องลงทุนใช้งานระยะยาว เช่น เครื่องจักร คุณอาจเลือกซื้อแบบมือหนึ่งมา แต่บางอย่างที่ใช้งานแทนกันได้เล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ทีวี แอร์ ตู้เย็น ต่างๆ เหล่านี้ มือสองที่ราคาถูกและดีมีให้เลือกเพียบ ที่สำคัญอย่าลืมมองสินค้าที่ยังเหลือประกันให้มั่นใจในการใช้งานด้วย