7 กฎเหล็กทำธุรกิจที่ปรับใช้ได้ทุกยุคสมัย


7 กฎเหล็กเหล่านี้เป็นความรู้ในเบื้องต้นสำหรับคนที่กำลังเข้าสู่สนามธุรกิจจะต้องเรียนรู้ เพราะถ้าไม่รู้โอกาสที่จะทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในปัจจุบันมีโอกาสน้อยมาก

1. หาจุด pain point ในตลาดและกลุ่มเป้าหมายให้ได้ก่อนจะหาสินค้าหรือบริการ เพราะถ้าเราไม่รู้ความต้องการของผู้บริโภค เราก็มีโอกาสที่จะเริ่มต้นพลาด จะไม่รู้เลยว่าขณะนี้ตลาดเป็นอย่างไร จะทำอย่างไรให้สินค้ามีความแตกต่าง และไม่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ 

2. ทำความเข้าใจสินค้าและบริการของตัวเองอย่างถี่ถ้วน เพื่อจะได้รู้ว่าจุดอ่อน จุดแข็งอยู่ตรงไหน ตัวตนของสินค้าคืออะไร มีสไตล์แบบไหน หรือตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มใด เพราะถ้าเจ้าของเข้าถึงสินค้าของตัวเองได้ทุกแง่มุม ก็จะง่ายต่อการดำเนินการในขั้นตอนต่อๆ ไปได้

3. การตั้งราคาต้องเหมาะสม ไม่ควรเริ่มจากราคาที่ต่ำสุดจนเสี่ยงต่อการขาดทุนหรือสูงสุดจนขายไม่ได้ การกำหนดราคาของหนึ่งสิ่งควรมีการคำนวณอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้คุ้มค่าใช้จ่ายทางตรงและค่าใช้จ่ายทางอ้อมที่เกิดขึ้นรอบด้าน หรือถ้าเป็นสินค้าที่ต้องใช้เป็นประจำหรือซื้อบ่อย (Convenience Goods) หาได้ง่ายและมีการแข่งขันกันมาก อาจบวกเปอร์เซ็นกำไรให้ต่ำลง ส่วนสินค้าที่ขายไม่ได้บ่อยนักหรือใช้พื้นที่วางสินค้ามาก จำต้องบวกเปอร์เซ็นต์กำไรไว้สูง หรือถ้าเป็นสินค้าที่จับกลุ่มผู้ซื้อที่มีฐานะดี ก็จะบวกเปอร์เซ็นต์กำไว้สูงเกินกว่าสินค้าที่ผู้ซื้อมีฐานะยากจน เป็นต้น

4. Team Work เป็นสิ่งสำคัญ เพราะในการสร้างธุรกิจนั้นจำเป็นต้องใช้ทักษะความรู้ความชำนาญจากคนหลายกลุ่มความรู้ เนื่องจากการทำอะไรตัวคนเดียวไปเสียทุกอย่าง นอกจากจะไม่สามารถทำออกมาให้ดีที่สุดแล้ว ยังจะทำให้พลาดโอกาสในการใช้เวลาที่มีไปคิดต่อยอดบริหารกิจการ วางแผนกลยุทธ์ในด้านอื่น 

5. คิดถึงประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับมากกว่าเงินที่จะได้จากลูกค้า การหยิบยื่นคุณประโยชน์หรือการกำหนดธุรกิจ โดยยึดสิ่งที่ลูกค้าจะได้รับจากสินค้าเป็นที่ตั้งมากกว่าการคาดหวังเรื่องเงินหรือผลกำไรที่จะได้จากลูกค้า อาจนำมาซึ่งฐานลูกค้าอันเหนียวแน่น 

6. ตุนเงินสำรองในการทำธุรกิจอย่างน้อย 6 เดือนแต่จะให้ดีควรมีสัก 1 ปี เพราะการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ อาจไม่ได้นำมาซึ่งผลกำไรหรือยอดขายตามที่หวัง เนื่องจากยังใหม่ต่อตลาด กว่าลูกค้าจะรู้จัก วางใจ ให้การยอมรับ อาจต้องใช้เวลาและการยืนหยัดที่ยาวนานจนลูกค้าเกิดความคุ้นชิน 

7. แผนสำรองต้องมี เพราะทุกการลงทุนคือความเสี่ยง ควรมีแผน 2-3-4 สำรองไว้เสมอ ก่อนจะเริ่มต้นลงทุนทำธุรกิจอะไรต้องทำความเข้าใจให้ได้ด้วยว่า ได้ก้าวขาเข้ามายืนอยู่บนความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่จุดที่แย่ที่สุด (The worst point) ด้วย เพื่อเตรียมแผนการรับมือ 

 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : 7 กฎเหล็กทำธุรกิจที่ปรับใช้ได้ทุกยุคสมัย

www.bangkokbanksme.com