หากพูดถึงตลาดเครื่องดื่มในประเทศญี่ปุ่นจะพบว่าเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มูลค่าสูง และมีกำลังซื้อสูงกว่าเมื่อเทียบกับตลาดอื่น ๆ
ที่ผ่านมาหากเราเดินไปตามร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นจะสังเกตเห็นว่าเครื่องดื่มส่วนใหญ่จะมีส่วนผสมของคาเฟอีนจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเวลาผ่านไปความต้องการอยากจะบริโภคเครื่องดื่มใหม่ ๆ ย่อมเกิดขึ้นในหมู่ของคนญี่ปุ่น ดังนั้นแบรนด์เครื่องดื่มเริ่มมองหานวัตกรรมมาพัฒนาสินค้าเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม และรสนิยม
พฤติกรรมการบริโภคของคนญี่ปุ่นเปลี่ยน
การสำรวจของบริษัท Suntory Beverage & Food Limited ในเรื่องพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่ม พบความคิดเห็นของผู้สำรวจว่า “วันไหนที่ดื่มกาแฟตอนเช้า ช่วงบ่ายจะพยายามดื่มเครื่องดื่มที่ไม่มีคาเฟอีน” สอดคล้องกับการสำรวจของบริษัท Kirin Holdings Company, Limited ที่ได้ข้อมูลน่าสนใจออกมาว่า ผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มหลีกเหลี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มผสมสารคาเฟอีนมากขึ้นเพราะคำนึงถึงเรื่องสุขภาพ ขณะเดียวกันการทำงานอยู่บ้านมากขึ้นของคนญี่ปุ่นที่ Work from home ในช่วง COVID-19 (โควิด-19) ทำให้หยิบดื่มเครื่องดื่มที่ชอบออกมาดื่มได้สะดวกกว่าอยู่ออฟฟิศ จึงพยายามหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะไม่อยากให้ร่างกายได้รับมากเกินไป
จะเห็นได้ว่าแนวโน้มความนิยมของการบริโภคเครื่องดื่ม Caffeineless หรือเครื่องดื่มที่ลดปริมาณการผสมสารคาเฟอีนที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ จากเดิมที่เป็นกลุ่มคุณแม่กำลังอยู่ในช่วงให้นมลูกและพยายามหลีกเลี่ยงคาเฟอีน แต่ตอนนี้มีการขยายตัวของผู้บริโภค ส่งผลให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มหันมาสนใจในตลาดดังกล่าว
จากผลสำรวจข้างต้นทำให้หลายบริษัทแบรนด์เครื่องดื่มเริ่มเล็งเห็นความสำคัญของผู้บริโภคในส่วนนี้ พัฒนาสินค้าพร้อมทั้งสร้างความต้องการใหม่ เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่ง โดยเฉพาะการพัฒนาสินค้าใหม่ในประเภท Soft drinks รวมถึงการตั้งชื่อเครื่องดื่มที่ออกไปในแนวทางการรักสุขภาพ
โอกาสของผู้ประกอบการไทย
นายกิตติวัฒน์ ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโตเกียว แนะแนวทางสำหรับผู้ประกอบการสินค้าเครื่องดื่มของไทยที่ต้องการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ไว้ 3 ด้านว่า
ควรเข้าใจในรสนิยมและความต้องการของผู้บริโภค ดังเช่นเรื่อง Caffeineless ที่กำลังได้รับความนิยม เครื่องดื่มที่ไม่มีหรือลดน้ำตาล ภาชนะบรรจุที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็น ขนาด สีสัน ไปจนถึงการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมพัฒนาสินค้าให้ตรงกับแนวโน้มความต้องการของตลาด ศึกษาวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่เป็น Asian Speciality Drink ที่จะดึงดูดผู้บริโภคญี่ปุ่นได้ โดยเน้นจุดขายด้านประโยชน์ต่อสุขภาพและความแปลกใหม่ ซึ่งไทยเองมีความได้เปรียบในด้านวัตถุดิบที่เป็นผลผลิตการเกษตรต่าง ๆ รวมทั้งพืชสมุนไพรอยู่แล้ว
ทั้งนี้จะต้องระวังเรื่องการโฆษณาสรรพคุณที่ระบุประโยชน์ทางโภชนาการต่อสุขภาพ ที่อาจจะผิดกฎหมายควบคุมดูแลสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพของญี่ปุ่นตลาดผู้บริโภคในญี่ปุ่นโดยรวมเปลี่ยนจากการซื้อเพื่อการบริโภคสินค้า (Consumption) ไปเป็นเพื่อ การสร้างประสบการณ์ด้วยสินค้า (Experience)
ดังนั้น เครื่องดื่มต่าง ๆ ก็อาจจะดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคญี่ปุ่นได้จากการทำการตลาดที่ส่งเสริมการสร้างประสบการณ์ อาทิ ใช้กิจกรรมทางวัฒนธรรมอย่างเทศกาลสงกรานต์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่คนญี่ปุ่นสอดแทรกการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการบริโภคเครื่องดื่มไทย เป็นต้น