ข้อควรรู้ก่อนจดทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์ ทำธุรกิจแบบไหนถึงเข้าข่ายต้องจด


ปัจจุบันจะเห็นว่าการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์กลายเป็นที่นิยมของผู้คนยุคใหม่ที่ต้องการหารายได้เสริม หรือทำเป็นอาชีพหลัก ตลอดจนแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ที่ใช้เป็นอีกหนึ่งช่องทางสำหรับการสร้างรายได้ นอกเหนือจากการมีเพียงแค่หน้าร้าน เช่นเดียวกับในส่วนของผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซมากขึ้น เนื่องจากมีความสะดวกรวดเร็ว ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ที่ทำธุรกิจค้าขายออนไลน์ เรื่องหนึ่งที่จำเป็นต้องรู้ และทำให้ถูกต้อง คือการจดทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผู้ประกอบการมือใหม่อาจมีข้อสงสัย หรือคำถามว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ธุรกิจที่เข้าข่ายมีอะไรบ้าง ซึ่งบทความนี้เราได้รวบรวมข้อมูลมาเรียบร้อยแล้ว

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าเหตุผลที่ผู้ประกอบการควรจะต้องจดทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์นั้น ก็เพื่อประโยชน์กับตัวของผู้ประกอบการเอง เพราะการจดทะเบียนจะเป็นการยืนยันตัวตนว่าธุรกิจนี้มีอยู่จริง สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าเวลามาเลือกซื้อสินค้าว่าพวกเขาจะไม่โดนหลอก

โดยตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้ผู้ประกอบการต้องจดทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2553 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553) มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

รูปแบบการค้าออนไลน์ (e-Commerce) ที่เข้าข่ายต้องจดทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์

  • มีการซื้อขายสินค้า/บริการ ผ่านอินเทอร์เน็ต (เว็บไซต์, e-Marketplace, ร้านค้าในโซเชียลมีเดีย, แอปพลิเคชัน)
  • ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider: ISP)
  • ให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Web hosting)
  • ให้บริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้า/บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Marketplace)

โดยผู้ประกอบการที่เข้าข่ายจะต้องไปยื่นจดทะเบียนพาณิชย์ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่เริ่มประกอบการ

สถานที่จดทะเบียนพาณิชย์

สำนักงานตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ

  • ยื่นจดทะเบียนได้ที่ฝ่ายปกครอง สำนักงานเขต ในท้องที่ที่สำนักงานตั้งอยู่
  • ยื่นจดทะเบียนได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานการคลัง กรุงเทพฯ

สำนักงานตั้งอยู่ในภูมิภาค

  • ยื่นจดทะเบียนได้ที่เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล ในท้องที่ที่สำนักงานตั้งอยู่

เอกสารประกอบการจดทะเบียน

(1) เอกสารของผู้ประกอบพาณิชยกิจ

  • บุคคลธรรมดา :สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ประกอบการ
  • นิติบุคคล :สำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคล สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้มีอำนาจ

(2) แบบคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ หรือ ทพ. และเอกสารแนบ ทพ.

(3) แผนที่แสดงสถานที่ตั้งสถานประกอบการโดยสังเขป

(4) Print หน้าแรกของร้านค้าออนไลน์ สินค้า/บริการที่ประกอบการ วิธีการชำระเงิน วิธีการส่งสินค้า

ทั้งนี้ อัตราค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนพาณิชย์จะอยู่ครั้งละ 50 บาท หากผู้ประกอบการไม่จดทะเบียนพาณิชย์จะมีความผิดตามบทกำหนดโทษ พ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499 ระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และปรับวันละไม่เกิน 100 บาท จนกว่าจะมีการปฏิบัติให้ถูกต้อง