“รถกระบะ” คืออีกหนึ่งยานพาหนะที่ผู้คนมักซื้อ ด้วยโครงสร้างที่มีความแข็งแกร่ง สามารถบรรทุกสิ่งของได้หลากหลาย โดยเฉพาะตามต่างจังหวัดที่เราจะพบเห็นรถกระบะเป็นส่วนมากถูกใช้บรรทุกสินค้าด้านการเกษตร
แน่นอนว่า นอกจาก “รถกระบะ” จะเป็นยานพาหนะที่ให้ความสะดวกในเรื่องของการเดินทางแล้ว อีกด้านหนึ่งยังเป็นสร้างรายได้ให้กับตัวเองอีกด้วย หากสังเกตให้ดีในปัจจุบันจะพบว่า “รถกระบะ” ถูกนำมาดัดแปลงต่อยอดสู่การทำธุรกิจในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสร้างรายได้ที่มีความหลากหลาย ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาดูกันว่า “รถกระบะ” สามารถนำมาทำธุรกิจอะไรได้บ้าง
1.รถพุ่มพวง
เรียกได้ว่า “รถพุ่มพวง” เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาทุกยุคทุกสมัย โดยเป็นรถเคลื่อนที่ที่ยกตลาดสดมาให้บริการถึงหน้าบ้านของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น อาหารสด, อาหารแห้ง, ผัก, เครื่องปรุงรส ซึ่งภาพจำในแต่ละครั้งที่ “รถพุ่มพวง” มาถึง คือเสียงประกาศผ่านลำโพงว่า “กับข้าว มาแล้วครับ กับข้าว”
สำหรับข้อดีของ “รถพุ่มพวง” คือช่วยประหยัดเวลาพ่อบ้าน แม่บ้านที่ไม่ต้องเดินทางไปตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผู้คนต้องลดกิจกรรมการเดินทาง ลดการอยู่ที่พื้นที่ที่มีคนแออัด ซึ่ง “รถพุ่มพวง” สามารถตอบโจทย์เรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
ไม่เพียงเท่านั้น “รถกระบะ” ไม่จำเป็นต้องประยุกต์เป็น “รถพุ่มพวง” เสมอไป แต่ยังเปลี่ยนรูปแบบไปใช้ขายสินค้าประเภทอื่น ๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็น สินค้าอุปโภค/บริโภค สิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้าน หรืออาจจะปรับเป็นขายข้าวสาร หรือผลไม้ก็ได้
การนำ “รถกระบะ” มาทำเป็น “รถพุ่มพวง” ถือเป็นอีกหนึ่งไอเดียการสร้างรายได้ โดยเทคนิคสำคัญ คือจะต้องเข้าไปให้บริการในพื้นที่ชุมชมที่มีคนหมู่มาก เพื่อสร้างฐานลูกค้าประจำก่อน
2.รถแห่
“รถแห่” ยังคงมีความจำเป็นอยู่กับงานที่ต้องประชาสัมพันธ์ให้กับคนภายในพื้นที่รู้ เช่น งานวัด งานบุญ งานคอนเสิร์ต ตลอดจนกิจกรรมของภาครัฐฯ และเอกชน ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก หากเราจะเห็นรถแห่วิ่งไปตามหมู่บ้าน ชุมชน เพื่อบอกกล่าวรายละเอียดงานที่กำลังเกิดขึ้นให้กับผู้คนในละแวกนั้นรับรู้
ข้อดีของการใช้ “รถกระบะ” เป็น “รถแห่” นั้น คือสามารถติดแผ่นป้ายประชาสัมพันธ์งาน และประกาศข้อมูลผ่านลำโพงไปพร้อมกัน ซึ่งยังเป็นวิธีที่สร้างผลลัพธ์ได้ดีอยู่
3.รถรับจ้างขนของ
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่ารถบรรทุกสามารถใช้ขนสินค้า ดังนั้น ช่องทางสำหรับรับส่งสินค้าจึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่มีความน่าสนใจ โดยงานส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการย้ายที่พัก ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยานพาหนะที่มีความคล่องตัว เคลื่อนที่ได้เร็ว และสามารถขนส่งสินค้าได้ในจำนวนมาก
อีกทั้งข้อดีของการใช้ “รถกระบะ” รับจ้างขนของนั้น คือไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายดัดแปลงรูปทรงของรถ สามารถใช้ “รถกระบะ” ที่ซื้อมาขนส่งสินค้าได้เลย โดยค่าจ้างจะแบ่งเป็น ค้าจ้างในการขนของ และค่าน้ำมัน แยกออกจากกัน
4.รถ FoodTruck
“FoodTruck” กลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีความน่าสนใจ ซึ่งปัจจุบันเกิดไอเดียมากมายในการนำ “รถกระบะ” มาต่อยอดเป็นรถ “FoodTruck” ขายอาหาร เครื่องดื่ม วิ่งไปตามชุมชน ตลาดนัด รวมถึงหน้าห้างสรรพสินค้า นอกจากนี้ ยังมีบางแฟรนส์ที่มีแพ็คเกจเป็นรถ “FoodTruck” ให้กับผู้ที่สนใจลงทุนซื้อไปเปิดให้บริการ
ข้อดีของรถ “FoodTruck” คือสามารถเคลื่อนที่ได้ยังสถานที่อื่น ๆ ได้ตลอดเวลา เพื่อหาลูกค้าใหม่ ๆ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาในช่วงที่ลูกค้าน้อย เปลี่ยนแผนไปยังสถานที่อื่น ๆ อย่างไรก็ตาม อีกข้อควรระวังของการใช้รถกระบะแบบ “FoodTruck” หารายได้ที่แตกต่างจากธุรกิจอื่น ๆ ที่กล่าวมา คือเรื่องของต้นทุน โดยผู้ขายต้องแบกรับต้นทุน 2 ด้าน คือ 1.ต้นทุนด้านตัวรถ “FoodTruck” และ 2. ต้นทุนเรื่องวัตถุดิบ ซึ่งต้องคำนวณออกมาอย่าเหมาะสมเพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด
5.รถสองแถว
“รถสองแถว” อีกหนึ่งบริการที่หลายคนรู้จักกันเป็นอย่างดี โดยเหมาะกับการขนส่งในเส้นทางที่รถเมล์เข้าไปไม่ถึง หรือวิ่งในหมู่บ้านเพื่อรับคนออกมาถนนใหญ่ แม้ว่าค่าโดยสารจะอยู่ประมาณ 7-10 บาท แต่หากเป็นชั่วโมงเร่งด่วนก็สามารถสร้างรายได้ในระดับที่น่าพอใจเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม หากมีความสนใจที่จะนำ “รถกระบะ” นำมาทำเป็น “รถสองแถว” อาจจะต้องเข้าไปพูดคุยกับเจ้าของวินที่ได้รับให้เปิดเส้นทางว่ามีรายละเอียด เงื่อนไขอะไรบ้าง