ใครไม่บอก เราบอก รวมเทคนิค “การตั้งราคาสินค้า” ให้ขายง่ายแถมตรงใจผู้บริโภค


ปัจจัยที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือบริการสักหนึ่งอย่างมีด้วยกันหลายเหตุผล ทั้งชื่อแบรนด์ การทำการตลาด คุณภาพความคุ้มค่า และอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค นั่นก็คือ ราคา การตั้งราคาสินค้าหรือบริการที่เหมาะสมจะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการเพิ่มยอดขายได้

ถึงแม้ว่าสินค้าของคุณจะมีคุณภาพสูง แต่มีการตั้งราคาที่สูงเกินไป ผู้บริโภคอาจจะไม่ซื้อแล้วหันไปเลือกสินค้าอย่างอื่นแทน นั่นส่งผลให้ยอดขายที่ควรได้รับของคุณน้อยลง แต่ตรงกันข้ามหากตั้งราคาต่ำเกินไป ก็อาจทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าสินค้าไม่มีคุณภาพ หรืออาจทำให้ขาดทุนได้ เพราะฉะนั้นการตั้งราคาสินค้าให้เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งในการตั้งราคาสินค้าให้ตรงใจผู้บริโภค ตั้งได้จากเทคนิคเหล่านี้

อ้างอิงจากราคาตามท้องตลาด

การตั้งราคาอ้างอิงจากราคาท้องตลาด เป็นวิธีที่ง่ายวิธีหนึ่ง แต่จะต้องเปรียบเทียบกับสินค้าชนิดเดียวกันและคุณภาพระดับเดียวกันด้วย ซึ่งราคาที่ตั้งควรต่ำกว่าท้องตลาดเล็กน้อยเพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขาย แต่หากตั้งราคาที่ต่ำกว่าตลาดเกินไปอาจจะส่งผลต่อความรู้สึกเรื่องคุณภาพต่อลูกค้าได้ เวลาเลือกซื้อสินค้ามีผู้บริโภคหลายคนที่จะเปรียบเทียบราคาของหลายๆ ร้านเพื่อเลือกร้านที่ราคาถูกที่สุด

ตั้งราคาสูงเพื่อทำโปรโมชั่น 

การตั้งราคาเพื่อทำโปรโมชั่นก็ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจ วิธีนี้เป็นการตั้งราคาสินค้าให้สูงกว่าปกติ แต่ขายจริงในราคาที่ถูกกว่าโดยใช้คำว่าโปรโมชั่นมาเป็นตัวดึงดูดผู้บริโภค เช่น โปรโมชั่น ราคาพิเศษจาก 200 บาท เหลือ 150 บาท หรือจะตั้งราคาสูงไว้เผื่อการต่อราคาก็ได้เช่นกัน

ตั้งราคาช่วงเทศกาล 

การตั้งราคาในช่วงเทศกาลควรตั้งให้ต่ำกว่าราคาขายปกติ เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้านั้นๆ ตามเทศกาล ไม่ว่าจะเป็น เทศกาลปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ เทศกาลตรุษจีน เป็นต้น

ตั้งราคาที่ลงท้ายด้วยเลข 9 

ดูจะเป็นวิธีที่ไม่น่ามีผลเท่าไหร่สำหรับการตั้งราคาสินค้าตามหลักจิตวิทยาซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการหลาย ๆ คนนิยมทำ แต่กลับให้ผลตรงกันข้าม เพราะตามหลักจิตวิทยาคนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญหรือประเมินค่าจากด้านหน้ามากกว่าเลยด้านหลัง การตั้งราคาที่ลดลงมา 1 บาท ให้หน่วยสุดท้ายเป็นเลข 9 จะให้ความรู้สึกว่าสินค้าถูกกว่าแม้จริง ๆ แล้วจะต่างกันเพียงแค่ 1 บาทเท่านั้น เช่น บางคนมองว่า กางเกงราคา 300 บาท แพงแต่กลับมองว่ากางเกงแบบเดียวกันราคา 299 สามารถจับต้องได้ คุ้มค่าที่จะจ่าย

ตั้งราคาที่สามารถคำนวณได้ง่าย 

นี่ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจ นั่นก็คือการตั้งราคาที่ผู้บริโภคสามารถคำนวณได้ง่าย ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ตัวเลขที่นิยมลงท้ายเพื่อให้คำนวณราคาได้ง่าย จะเป็นเลข 0 หรือ เลข 5 การตั้งราคาแบบนี้จะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าได้ไวและง่ายขึ้น ลูกค้าบางคนมัวคิดเลขและตัดสินใจไม่ซื้อเพราะคำนวณราคาไม่ได้ เชื่อว่ามีลูกค้าหลายคนที่ไม่ชอบถาม แต่ชอบดูและคำนวณเองมากกว่า

ตั้งราคาที่ออกเสียงสั้นและชัดเจน

การตั้งราคาสินค้าที่ออกเสียงสั้นและชัดเจน จะทำให้ลูกค้าไม่ต้องใช้ความคิดมาก อย่างที่บอกไปว่า การที่ลูกค้ามีเวลาคิดน้อย จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น ช่วยลดการประมวลผลของการตัดสินใจ และความชัดเจนยังแสดงถึงความจริงใจที่มีต่อผู้บริโภคด้วย

 

ถึงแม้ว่าสินค้าของคุณจะทำการตลาดดีแค่ไหน คุณภาพของสินค้าสูงเพียงใด แต่หากราคาที่ตั้งไม่เหมาะสม ก็อาจทำให้สินค้าของคุณโดนมองผ่านเอาได้ง่าย ๆ อย่างที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าตลาดทุกวันนี้มีการแข่งขันที่สูง การตั้งราคาจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้