หากจะให้อธิบายถึงปี 2563 ที่กำลังผ่านพ้นไปนั้น ถือว่าเป็นปีที่ค่อนข้างยากลำบากในการดำเนินชีวิต ความเป็นอยู่ และการทำงาน ด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ผู้คนต้องตกงาน รายหดหาย จนขนาดนิตยสาร Time ต้องยกให้ปี 2020 เป็นปีที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยมีมา
แม้ว่าหนทางอาจจะดูมืดมิด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะหมดหนทางไปเลยทีเดียว สำหรับใครที่มองหาลู่ทางการทำธุรกิจ หรืออยากขยายกิจการจากธุรกิจที่ทำอยู่ บทความนี้ Smartsme ได้รวบรวมเทรนด์ธุรกิจที่มาแรงในปี 2564 ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้นมาดูกันเลย
มาเริ่มกันที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่าอุตสาหกรรมอาหาร และเภสัชภัณฑ์ มีแนวโน้มจะเป็นอุตสาหกรรมเด่นในปี 2564 เนื่องจากผู้คนทั่วโลกยังความต้องการยารักษาโลก และความกังวลเรื่องสถานการณ์ของโควิด-19 โดยอุตสาหกรรมทั้งสองเป็นการเติบโตต่อเนื่องมาจากปี 2563 ทั้งอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) ที่คาดว่าทั้งปี 2563 จะขยายตัวเพิ่ม 1.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน ขณะที่อุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์ ก็ขยายตัวเช่นกัน ซึ่งประเมินว่าทั้งปี 2563 จะขยายตัว 17.5%
สอดคล้องกับนายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ที่แนะนำให้ผู้ประกอบการจับตาพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด โดยให้ความสำคัญ 4 เรื่องด้วยกัน คือ
1.การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง
2.การใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ เข้ามาช่วยในการผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดได้เร็วยิ่งขึ้น
3.คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ
4.ข้อจำกัดเรื่องแรงงาน ที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ขณะที่นายชาญชัย ชัยประสิทธิ์ หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี บริษัท PwC ประเทศไทย มองถึง 4 อุตสาหกรรมในไทยที่มีโอกาสเติบโต ประกอบกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมการเกษตร ที่เป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานของแรงงานไทย โดยคิดเป็น 1 ใน 3 ของแรงงานทั่วประเทศ หากลงรายละเอียดจะพบว่าอุตสาหกรรมการเกษตรยังคงมีความน่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญ หรือมีศักยภาพในการพัฒนา เช่น การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเพาะปลูก, การส่งข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน, การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร
2.อุตสาหกรรมบริการสุขภาพและการศึกษา ตลาดสุขภาพมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของชนชั้นกลาง และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเมื่อดูจากข้อมูลพบว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตการใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงกว่า GDP
เช่นเดียวกับตลาดการศึกษา ที่พบว่าไทยยังมีข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐาน และทรัพยากรที่ยังมีไม่เพียงพอ จึงเป็นโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเสนอบริการขยายช่องทางทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาด e-learning ซึ่งคาดว่า ในปี 2563 ทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 126 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่ไทย และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย นำโดย จีน อินเดีย พม่า มาเลเซีย และเวียดนาม จะก้าวเป็นผู้นำตลาดในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยมูลค่าตลาดจะเติบโตเฉลี่ยที่ 26% ต่อปี
3.อุตสาหกรรมการผลิต ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก รวมถึงเป็นฐานการผลิตยานยนต์ และชิ้นส่วนรายใหญ่ของอาเซียน อย่างไรก็ตาม ไทยจำเป็นต้องยกระดับ ผลักดันตัวเองไปสู่กลุ่มธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ยานยนต์ เคมี อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้มากขึ้น
ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่มีความสามารถเจาะตลาดที่กำลังจะเป็นเทรนด์ธุรกิจต่อไปในอนาคตข้างหน้า
4.อุตสาหกรรมบริการทางการเงิน ตลาดการเงินกลายเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่มีการจับตามอง โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันรูปแบบการชำระเงินทางเลือกในไทยมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมที่ไม่ต้องใช้เงินสด การเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เช่น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ สอดคล้องกับอัตราการออมของคนไทยยังคงอยู่ในระดับสูง คิดเป็น 30% ของ GDP ในปี 2564 สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการขยายการเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยเฉพาะประชากรที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นห่างไกล ไม่มีบัญชีฝากธนาคาร หรืออยู่นอกระบบ เพราะมีข้อจำกัดในด้านเอกสาร หรือขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้ หรือเข้าถึงแหล่งบริการทางการเงินต่างๆ
เหล่านี้ถือเป็นทั้งโอกาส และความท้าทายของผู้ประกอบการในการเข้ามายกระดับบริการทางการเงินให้กับอุตสาหกรรม