คลายทุกข้อสงสัย ตอบคำถามประกันสังคมเดือน ม.ค.-มี.ค. 64 นายจ้างต้องจ่ายเท่าไหร่


การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศได้สร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการในหลายภาคธุรกิจที่ต้องกลับมาเผชิญกับช่วงเวลาที่วิกฤตอีกครั้ง จากมาตรการที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะนายจ้างที่ต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่าย ทั้งการผลิต, แรงงาน

ล่าสุด กระทรวงแรงงาน ออกมาตรการเยียวยาผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมด้วยการลดเงินสมทบเป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งประเมินไว้ว่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนของนายจ้าง-ลูกจ้าง ได้มากถึง 15,600 ล้านบาท

สำหรับนายจ้างที่ต้องการดูรายละเอียดของเงินสมทบที่ต้องจ่ายต่อจากนี้อีก 3 เดือนข้างหน้า (ม.ค.-มี.ค. 64) ว่ามีอัตราเท่าไหร่บ้างนั้น Smartsme ได้เก็บรวบรวมข้อมูลมาให้แล้ว ตลอดจนคำถามที่เป็นข้อสงสัยอื่น ๆ ก็มีคำตอบมาให้เพื่อเกิดความกระจ่างเช่นกัน

สถานประกอบการต้องนำส่งเงินสมทบงวดเดือนมกราคม-มีนาคม 2564 ในอัตราเดือนละเท่าไหร่ของค่าจ้าง

  • สถานประกอบการต้องนำส่งเงินสมทบในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ฝ่ายละ 3% ของค่าจ้าง โดยมีฐานค่าจ้างขั้นต่ำ 1,650 บาท สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2564

ผู้ประกันตนมาตรา 39 ต้องนำส่งเงินสมทบงวดเดือนมกราคม-มีนาคม 2564 ในอัตราเดือนละเท่าไหร่

  • ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ต้องชำระเงินสมทบ เดือนละ 278 บาท/เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2564

สถานประกอบการ สามารถชำระเงินสมทบของงวดเดือนมกราคม-มีนาคม 2564 ในอัตราร้อยละ 3 ผ่านช่องทางไหนบ้าง

  • ชำระเงินสมทบผ่าน 3 ช่องทาง คือ 1.เคาท์เตอร์ธนาคาร 3 แห่ง ได้แก่ ธ.กรุงไทย/ ธ.กรุงศรีฯ/ ธ.ธนชาต 2.ชำระผ่านระบบ e-Payment 10 แห่ง ได้แก่ ธ.กรุงไทย/ ธ.กรุงศรีฯ/ ธ.ไทยพาณิชย์/ ธ.กสิกรไทย/ ธ.กรุงเทพ/ ธ.ซิตี้แบงค์ เอ็น.เอ./ ธ.มิซูโอ/ ธ.ซูมิโตโม มิตชุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชัน/ เคาน์เตอร์เซอร์วิส (ด้วยบัตรเดบิต/เครดิต มาสเตอร์การ์ด/ ธ.ทหารไทย (ช่องทาง NSW) และ 3.สำนักงานประกันสังคม

ผู้ประกันตนมาตรา 39 สามารถชำระเงินสมทบของงวดเดือนมกราคม-มีนาคม 2564 เดือนละ 278 บาท ผ่านช่องทางไหนบ้าง

  • ชำระเงินสมทบได้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2564 ผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั่วประเทศ คือ 1.เคาน์เตอร์และหน่วยบริการ ได้แก่ ธ.กรุงไทย/ ธ.ธนชาต/ บิ๊กซี/ เซ็นเพย์/ เคาน์เตอร์เซอร์วิส (7-Eleven)/ ไปรษณีย์/ ธ.กรุงศรีฯ (ให้บริการรับชำระเงิน ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.64), เทสโก้โลตัส (ให้บริการรับชำระเงิน ตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค.64) 2.หักผ่านบัญชีธนาคาร 7 แห่ง ได้แก่ ธ.กรุงไทย/ ธ.กรุงศรีฯ/ ธ.ธนชาต/ ธ.ทหารไทย/ ธ.ไทยพาณิชย์/ ธ.กสิกรไทย/ ธ.กรุงเทพ และ 3.สำนักงานประกันสังคม

ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ชำระเงินสมทบเดือนมกราคม 2564 จำนวน 432 บาท จะหักลบเดือนถัดไปได้หรือไม่

  • ไม่สามารถหักลบกับเดือนถัดไปได้ โดยผู้ประกันตนสามารถขอรับเงินที่ชำระเกิน โดยยื่นแบบคำขอรับเงินคืน สปส.1-23/3 ได้ที่สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ

กรณีนายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานตามคำสั่งของภาครัฐฯ ในเดือนมกราคม-มีนาคม 2564 ทำให้ไม่มีการจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง นายจ้างจะต้องยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบ (สปส.1-10) อย่างไร

  • กรณีไม่มีการจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างทั้งหมด นายจ้างไม่ต้องยื่นแบบรายการแสดงส่งเงินสมทบ (สปส.1-10) ในช่วงเดือนที่ไม่มีค่าจ้าง
  • กรณีมีการจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง แต่มีลูกจ้างบางรายไม่ได้รับค่าจ้างเนื่องจากสั่งหยุดพัก 14 วัน ให้นายจ้างยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบ (สปส.1-10) ตามปกติ โดยรายละเอียดการส่งเงินสมทบ (ส่วนที่ 2) ให้กรอกรายละเอียดลูกจ้างที่ไม่ได้รับค่าจ้างในงวดเดือนนั้นด้วย และระบุค่าจ้างและเงินสมทบเป็นศูนย์

ข้อมูลจาก: สำนักงานประกันสังคม