การทำธุรกิจให้ยั่งยืนนอกเหนือจากการบริหารที่ดีแล้ว การจัดการเรื่องรายได้ที่เข้ามาก็มีความสำคัญอยู่ไม่ใช่น้อย หากผู้ประกอบการมีวิธีทำให้เงินที่มีอยู่สามารถงอกเงยต่อไปได้ในอนาคตจะเป็นผลดีต่อธุรกิจ หรือหากมีสถานการณ์ฉุกเฉินจำเป็นต้องใช้เงินก็สามารถถอนออกมาได้โดยไม่เดือดร้อน
ปัจจุบันมีหลายวิธีที่จะทำให้เงินทำงานแทนเราหรือที่เรียกว่า “passive income” ซึ่งหมายถึงการรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องลงแรงอะไรเลย ดังนั้น เรามาดูกันว่าวิธีสร้าง “passive income” สามารถทำได้อย่างไรบ้าง ดังต่อไปนี้
ฝากเงินกับธนาคาร
นี่คือวิธีแรกที่ผู้คนส่วนใหญ่มักคุ้นเคย และทำกันมาก การฝากเงินกับธนาคารมีคำถามขึ้นมาว่า “passive income” มาจากไหน สำหรับคำตอบนั้น คือมาจาก “ดอกเบี้ย” นั่นเอง ซึ่งการเปิดบัญชีฝากเงินกับธนาคารมีทั้งแบบออมทรัพย์ และฝากประจำ ให้เป็นตัวเลือก
อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของการฝากเงินในรูปแบบดังกล่าว คือในเรื่องของดอกเบี้ยที่ได้ค่อนข้างน้อยเฉลี่ย 0.25%-2% บางครั้งเมื่อถูกคำนวณออกมาแล้วนึกว่าเป็นเงินทอนโอนเข้ามาในบัญชี แต่ข้อดีก็มี คือเงินต้นที่เราฝากจะอยู่ครบไม่ติดลบเหมือนกับการเล่นหุ้น ปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์
ลงทุนในหุ้น
การลงทุนในหุ้นเป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการ และเป็นช่องทางยอดนิยมระดับต้น ๆ ของผู้คนทั่วโลก ในอดีตเราได้เห็นบุคคลที่ร่ำรวยมาจากการเล่นหุ้น สามารถสร้างเป็นตอบแทนอย่างเป็นกอบเป็นกำ เช่น วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่ร่ำรวยจากการลงทุนในหุ้น
แม้ว่าการลงทุนในหุ้นจะมีกระบวนการค่อนข้างง่าย แค่ซื้อมา-ขายไป แต่เคยได้ยินประโยคนี้หรือไม่ว่า “การลงทุนเป็นความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาและทำความเข้าใจก่อน” นั่นหมายความว่าก่อนจะลงทุนเข้าซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ผู้ประกอบการควรมานั่งทำการบ้าน ศึกษาข้อมูลว่า หุ้นที่จะซื้อนั้นทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไร ดูผลตอบแทนย้อนหลัง รวมทั้งคาดการณ์ไปในอนาคตข้างหน้าว่าธุรกิจดังกล่าวยังคงเป็นเทรนด์ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ผู้คนส่วนใหญ่ยังจำเป็นต้องอุปโภค-บริโภค ซึ่งหากศึกษาไม่ดีหุ้นที่ลงทุนไปก็อาจติดดอยก็เป็นได้
ซื้อกองทุนรวม
หากจะนิยามคำว่า “กองทุนรวม” คืออะไร อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือการนำเงินทุนมากองรวมกัน นั่นเอง ข้อดีของกองทุนรวม คือผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องมานั่งดูราคาเหมือนกับลงทุนในหุ้น เนื่องจากจะมีผู้จัดการกองทุน (Fund Manager) มาคอยจัดการในเรื่องนี้ อีกทั้งยังสามารถใช้เงินลงทุนไม่ต้องมากเหมือนกับการซื้อหุ้นที่การซื้อแต่ละครั้งต้องซื้ออย่างต่ำ 100 หุ้น แต่กองทุนรวมแค่มีเงิน 500 บาทก็สามารถเป็นเจ้าของกองทุนได้แล้ว
ไม่เพียงเท่านั้น “กองทุนรวม” ยังสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีปลายปีได้อีกด้วย หากมีการซื้อกองทุนแบบ RMF และ SSF
สำหรับ “กองทุนรวม” จะมีให้เลือกอย่างหลากหลายตามระดับความเสี่ยง เหมือนกับเราเข้าไปซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้าเลย ไม่ว่าจะเป็น กองทุนตราสารหนี้, กองทุนรวมหุ้น, กองทุนทองคำ ซึ่งในแต่ละกองทุนก็จะมีความเสี่ยงแตกต่างกันออกไป เช่นเดียวกันหากเสี่ยงมากผลตอบแทนที่ได้กลับมาก็จะสูง แต่หากเสี่ยงน้อยผลตอบแทนที่ได้กลับมาก็จะน้อยตาม ดังนั้น ผู้ประกอบการควรจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดของกองทุนให้ดีก่อนจะลงทุน
ปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์
อีกหนึ่งวิธีการสร้าง “passive income” ยอดนิยม คือการซื้ออสังหาริมทรัพย์ แล้วปล่อยให้คนอื่นเช่าต่อ เช่น บ้าน, ห้องแถว, คอนโด เป็นต้น ในลักษณะแบบรายเดือน หรือระยะยาวเป็นปี
หัวใจสำคัญที่จะทำให้การปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์ประสบความสำเร็จ คือการเลือกทำเลที่มีสาธารณูปโภคเข้าถึง ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้า, รถไฟใต้ดิน, ห้างสรรพสินค้า ตลอดจนเป็นแหล่งที่มีผู้คนพลุกพล่าน เหล่านี้จะเป็นเครื่องมือสนับสนุนว่าอสังหาริมทรัพย์ของผู้ประกอบการจะมีคนมาขอเช่าอย่างแน่นอน
ต่อยอดสู่แฟรนไชส์
การต่อยอดธุรกิจสู่แฟรนไชส์มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะนอกจากจะเป็นการสร้าง “passive income” แล้ว อีกด้านหนึ่งยังเป็นการต่อยอดแบรนด์ธุรกิจให้เป็นที่รู้จักในตลาดอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ความยากของการต่อยอดสู่แฟรนไชส์นั้น คือธุรกิจที่ผู้ประกอบการดำเนินอยู่นั้นมีการบริหารจัดการระบบ วัตถุดิบที่ดีเยี่ยม เป็นไปตามมาตรฐานที่วางเอาไว้ เนื่องจากธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นธุรกิจที่มีความสำเร็จรูปอยู่ในตัวเอง ตอบโจทย์คนที่อยากมีธุรกิจ แต่ไม่อยากเริ่มต้นตั้งแต่แรก ดังนั้น ทุกขั้นตอนต้องได้รับการเซตระบบมาดีแล้ว
แน่นอนว่าการต่อยอดสู่แฟรนไชส์จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ โดยเก็บจากค่าซื้อแฟรนไชส์, ค่าธรรมเนียมในแต่ละปี
จะเห็นได้ว่า “passive income” เป็นการสร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่งที่เหมาะกับผู้ประกอบการที่อยากมีรายได้เข้ามาอยู่เรื่อย ๆ นอกจากธุรกิจที่ทำอยู่ ซึ่งแน่นอนจะช่วยสร้างความยั่งยืน และไปสู่เป้าหมายของชีวิตได้เร็วยิ่งขึ้น