ช่วงนี้ ผู้ประกอบการร้านค้าคงออกอาการร้อน ๆ หนาว ๆ กันอยู่ โดยเฉพาะร้านอาหาร จะคิดเมนูขึ้นมาใหม่แต่ละที ต้องศึกษาและมั่นใจว่า น่าจะไม่เหมือนใคร ไม่ไปซ้ำกับใคร !
แต่หากบังเอิญเหมือนกรณีที่เป็นข่าว แจ็คพอต !! ขึ้นมาแล้วเกิดขึ้นกับตัวคุณเอง เช่น เราทำแบรนด์สินค้าอยู่ จู่ ๆ มีคนอื่นมาลอกแบรนด์เรา หรือทำคล้าย ๆ แบรนด์ของเรา แบบนี้ฟ้องได้มั้ย ?
หรือ.. เราทำแบรนด์ของเรามาตั้งหลายปี แต่ไม่เคยจดแจ้งทรัพย์สินทางปัญญา วันหนึ่งมีคนมาจดตัดหน้าเรา แล้วมาหัวหมอเล่นแง่ มาฟ้องว่า เราไปลอกเขา แบบนี้ใครถูก ?
เรื่องพวกนี้ คือ เรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา ที่ผู้ประกอบการไทยหลายคนมองข้าม สิ่งที่อยากจะบอก คือ กฎหมายและโทษของการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา นั้นร้ายแรงกว่าที่คิด แต่ในมุมที่ดี คือ มันคือเครื่องมือสามารถปกป้องผู้ประกอบการที่เป็นผู้ริเริ่มคิดค้นและเผยแพร่ผลงานหรือผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ซึ่งเป็นคนแรกได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ หากคุณไม่ดำเนินการแจ้งทรัพย์สินทางปัญญา คุณอาจจะกลายเป็นเหยื่อถูกฟ้องกลับ แทนที่จะกลายเป็นผู้ชนะก็เป็นได้
โดยหน่วยงานที่เข้ามาดูแลเรื่องนี้โดยตรง คือ กรมทรัพย์สินทางปัญญา (DEPARTMENT OF INTELLECTUAL PROPERTY : DIP) ซึ่งหน่วยงานนี้เขาเอาจริงกว่าที่หลายคนคิดนะ ถ้าผู้เสียหายติดตามเรื่อง เอาจริง โดยผลักดันเรื่องนี้ไปให้สุด คุณก็จะเป็นผู้ชนะและได้รับเงินค่าเสียหายแน่นอน
Smart SME ได้สรุปกรณีที่ผู้ประกอบการธุรกิจอาจหลงลืม ไม่รู้มาก่อน หรือขาดความเข้าใจเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเอาจริง ๆ เราจะพบเห็นกันได้บ่อย ๆ ซึ่งสุ่มเสี่ยงอย่างมากต่อการถูกฟ้องร้องต้องชดใช้ค่าปรับ ลองไปดูกันว่ามีกรณีศึกษาใดบ้าง
1. การดัดแปลงเนื้อหาบทความ (Content) : หรือข้อความโฆษณาต่าง ๆ ของต้นฉบับคนที่เขียนไว้ นำมาโพสต์เผยแพร่สู่สาธารณะ โดยไม่ได้ให้เครดิตแหล่งที่มา หรือขออนุญาตจากเจ้าของผลงานก่อน หรือนำมาเผยแพร่โดยบิดเบือนข้อเท็จจริง กล่าวให้ร้าย ในทางที่ไม่ดี ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
2. TRADE MARK เครื่องหมายการค้า : เรื่องนี้ คนทำแบรนด์มักมองข้าม ซึ่งตรงนี้เจ้าของผู้คิดค้น จะต้องดำเนินการจดทะเบียนหรือเครื่องหมายการค้าอยู่แล้ว ได้ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อจะได้มีเอกสารไว้ยืนยัน เช่น โลโก้ สัญลักษณ์บ่งบอกความเป็นแบรนด์ของคุณ , สำคัญคือ คุณต้องอย่าลืม ไปยื่นจดเครื่องหมายการค้าก่อน มิเช่นนั้น หากมีคนหัวหมอมีคนทำซ้ำ ลอกเลียนแบบผลงานคุณ คุณก็จะฟ้องไม่ได้ เพราะยังไม่ได้ยื่นจดแจ้ง
3. การเปิดเพลงในร้านกาแฟ ร้านอาหาร : โดยไม่ว่าจากสื่อใด ๆ เช่น ซีดี ดีวีดี Youtube ถือเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชน ที่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน เพราะอาจเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ โดยวิธีแก้ไขง่าย ๆ คือ เลือกเปิดเเพลงที่มีระบุว่า ดาวน์โหลดฟรี ปลอดการละเมิดลิขสิทธิ์ แม้อาจจะไม่เพลงดัง แต่ปลอดภัยไว้ก่อน 100% นะ
4. การเจตนาจงใจทำซ้ำ ลอกเลียนแบบ เข้าข่ายถูกฟ้องได้เช่นกัน : ยกตัวอย่างเช่น เหมือนกรณีแบรนด์เครื่องดื่มเสือพ่นไฟ ฟ้องเรียกค่าเสียหายกับ หมีพ่นไฟ ที่ทำเลียนแบบสินค้าเครื่องดื่มทั้งโลโก้ แก้ว และกิมมิคร้าน หรือประติมากรรมการออกแบบตกแต่งร้าน ซึ่งศาลจะใช้ดุลยพินิจ เห็นว่า แบรนด์หมีเลียนแบบเสือจริง ๆ จึงตัดสินให้เสือพ่นไฟชนะคดี และได้รับค่าปรับ 10 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย เป็นต้น
รู้อย่างนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นทั้งตัวเจ้าของไอเดียผู้คิดค้นผลงาน หรือ คนที่กำลังจะผลิตผลงานเพราะไปพบเห็นผลงานของคนอื่น ควรจะตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว พร้อมกับศึกษาทำความเข้าใจให้ดี โดยท่องจำเอาไว้
• ลิขสิทธิ์เกิดขึ้นทันที ไม่จำเป็นต้องจด
• หากคุณกลัวโดนก๊อปปี้ผลงาน ก็ไปดำเนินการขอจดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญหาให้เรียบร้อยเสียก่อน
• ละเมิดลิขสิทธิ์ มีโทษทั้งทางอาญาและแพ่ง
• งานปลอดละเมิดฯ อย่าเพิ่งวางใจ โดยคุณก็ควรอ่านเงื่อนไขดี ๆ หรือขออนุญาตเจ้าของผลงานก่อนดาวน์โหลดนำไปเผยแพร่
อย่านิ่งเฉย..ถ้าถูกก๊อปงาน และ อย่าคิดว่า ก็อปงานแบบเนียน ๆ แล้วจะรอด.. เพราะหากตรวจเจอโทษปรับ คุณจะต้องร้องขอชีวิตเลยล่ะ !