ใคร ๆ ก็อยากทำงานที่ใช้พลังงานและเวลาน้อย ๆ แต่ได้ผลลัพธ์และประสิทธิภาพมาก หรือที่เรียกว่า Work Smart
เช่นเดียวกับการทำธุรกิจ ที่เจ้าของหรือผู้ประกอบการทุกคน ล้วนแล้วแต่สรรหาวิธีการบริหารธุรกิจของตนเองมาใช้เป็นเครื่องมือบริหาร เพื่อให้มียอดขายที่เพิ่มขึ้น แต่หลาย ๆ วิธีก็ต้องแลกมาด้วยความทุ่มเท ใส่แรงกายและแรงใจเข้าไปเกินร้อย แต่ผลลัพธ์ในบางครั้งที่ได้กลับมานั้น ไม่เป็นอย่างที่ได้ทุ่มเทจนสุดกำลังลงไปเลยแม้แต่น้อย
วันนี้ Smart SME มีวิธีการที่ง่ายและเหนื่อยน้อยที่สุดในการเพิ่มกำไร คือ “การจัดการต้นทุน” ซึ่งเพื่อน ๆ ที่มีธุรกิจ กิจการ สามารถนำไปปฏิบัติเริ่มต้นได้ง่าย ๆ ด้วยกลยุทธ์ ต่อไปนี้
4 กลยุทธ์ บริหารต้นทุน เพิ่มผลกำไร แถมยังเหนื่อยน้อยลง
1. พูดคุยกับฝ่ายจัดซื้อ
จริง ๆ แล้วฝ่ายจัดซื้อมีความสำคัญในระดับกลยุทธ์ เพราะช่วยให้บริษัทมีต้นทุนที่ต่ำกว่าคู่แข่ง มีทางเลือกในการทำโปรโมชันราคาสินค้า รวมถึงทำให้มีสินค้าพร้อมขาย ไม่เสียโอกาสการขาย มีสภาพคล่องที่ดี และยังทำให้ได้ของที่มีคุณภาพดีกว่าคู่แข่ง
โดยฝ่ายจัดซื้อย่อมรู้ดีที่สุดในเรื่องข้อมูลของ Supplier (ซัพพลายเออร์) ที่เป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทหรือธุรกิจของคุณ ซึ่งการคัดสรร หรือปรับเปลี่ยน ซัพพลายเออร์ ให้เหมาะสมกับงบประมาณที่คุณต้องการ มีโอกาสทำให้คุณได้ของราคาที่ถูกกว่าเดิม หรือ คุณภาพดีกว่าเดิม หรือมีโอกาสได้ทั้งสองอย่าง
โดยถ้าฝ่ายจัดซื้อของเราคนไหนไม่อยากเปลี่ยนแหล่งซื้อ ต้องลองตรวจสอบว่า เขามีดีลลับบางอย่างกับ Supplier เดิมหรือไม่ ซึ่งก็จะเป็นการป้องกันการทุจริตในบริษัทและเป็นการควบคุมต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย และเมื่อเราลองเปลี่ยน Supplier เราอาจจะพบว่า กำไรเราเพิ่มขึ้นได้ทันที โดยที่ไม่ต้องปรับเปลี่ยนสิ่งอื่นเลย
2. การจัดการคลังสินค้า
โดยเฉพาะการนับจำนวนสินค้าว่าครบถ้วนหรือไม่ ถ้าจำนวนสินค้าขาดหายไปโดยไม่รู้ว่าหายไปไหน คือ ต้นทุนที่เสียไปและหาคืนกลับมาได้ยาก และหากเจอสินค้าที่ขายไม่ออกเป็นจำนวนมาก ควรหาวิธีระบายสินค้าออกโดยด่วน ไม่เช่นนั้น จะเป็นต้นทุนจม และอาจทำให้บริษัทขาดสภาพคล่องได้
3. บริหารต้นทุนดำเนินงาน
คือ “การจัดการหลังบ้าน” นั่นเอง โดยไม่ว่าจะเป็นระบบเอกสาร , ค่าเช่าสำนักงาน, เงินเดือน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ เราค่อยปรับให้เป็นแบบออนไลน์ ทั้งการให้พนักงานทำงานที่บ้านแบบ Work from home โดยไม่กระทบกับการทำงาน จะทำให้ลดค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน และเป็นการลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของพนักงาน
รวมถึงสวัสดิการบางอย่างที่ไม่จำเป็น ทำให้เราไม่ต้องลดจำนวนพนักงาน เพื่อตัดรายจ่ายส่วนนี้ ซึ่งอาจมีผลเสียมากกว่าผลดี นอกจากนี้ระบบเอกสารและการอนุมัติทั้งหลาย ควรลดขั้นตอนและอัพเกรดระบบให้เป็นออนไลน์ เช่น การใช้ Cloud Document ซึ่งช่วงแรกอาจจะดูยุ่งยาก แต่ถ้าทำเสร็จ เราจะลดได้ทั้งเงินและเวลาในการดำเนินงาน
4. งบการตลาด
แน่นอนว่า มีต้นทุนอีกรายการที่ทุกคนยอมจ่ายเพื่อให้ธุรกิจเติบโต นั่นก็คือ “งบการตลาด” ซึ่งกลยุทธ์ที่ควรนำมาปรับใช้เพื่อให้ต้นทุนนี้มีประสิทธิภาพ ควรเริ่มจากการกลับมาทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายให้ถ่องแท้ วางแผนและตั้งเป้าหมายที่มีการวัดผลอย่างสม่ำเสมอ ก่อนจะใช้งบประมาณในการทำการตลาด
รวมถึงในยุคที่ใครต่างยิงโฆษณาออนไลน์ เราสามารถทดสอบโดยใช้เงินน้อย ๆ แต่ทำหลายๆ โพสต์ หลาย ๆ ช่องทางพร้อมกัน และวัดผลว่า อันไหนทำให้เกิดผลลัพธ์ได้ดีที่สุด
ซึ่งมีข้อคิดอยากเตือนใจก่อนทำการตลาด คือ “อย่าทำตามกระแสคนอื่น เพียงเพราะมันดูดี ขายได้ แต่ให้ทำตามที่ลูกค้าต้องการ จะได้ผลมากกว่า และใช้งบน้อยกว่า”