การทำธุรกิจ มีทั้งคนที่บริหารธุรกิจที่เติบโต ทำกำไรดี ไปได้สวย และ คนที่พยายามประคับประคองธุรกิจ ชนิดที่เรียกว่าล้มลุกคลุกคลานก็เยอะ
โดยตัวแปรขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ เงินทุนของผู้ประกอบการ ความรู้ความสามารถ ทำเล เทคนิคการทำตลาดที่โดนใจเข้าถึงกลุ่มลูกค้า คอนเน็คชัน จังหวะและโอกาส รวมถึง ‘โชค’ ก็มีส่วนเช่นกัน
อย่างไรก็ดี หากธุรกิจของคุณ ส่ออาการหนัก คุณจะรู้ว่า เริ่มแย่ หรือควรจะตัดสินใจอะไรบางอย่าง จะไปต่อ..หรือพอแค่นี้ ? ซึ่งอาการเหล่านี้ มักจะส่งสัญญาณเตือนมาเป็นระยะ ๆ ซึ่งคุณเองจะรู้ดีที่สุด
มาดูกันว่า..อะไร ? คือ สัญญาณที่บอกว่า คุณกำลังประสบปัญหาใหญ่ ควรจะหยุดพัก หรือไปต่อ !?
ลูกค้าใช้เวลาพิจารณานานกว่าปกติในการซื้อสินค้า
ในช่วงแรกเมื่อคุณเปิดตัวสินค้าใหม่ ๆ สินค้าอาจเป็นที่น่าจับตามอง น่าสนใจสำหรับคนทั่วไป ทำให้มียอดสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่ถ้าวันหนึ่งคุณสังเกตเห็นความผิดปกติ ลูกค้าไม่ค่อยสั่งซื้อ หรือลูกค้าใช้เวลานานกว่าจะสั่งซื้ออีกครั้ง นั่นหมายความว่า ถ้าคุณไม่พัฒนาสินค้าเรื่อย ๆ คำสั่งซื้อจะหายไปแน่นอน
ตลาดที่เล็งไว้ค่อย ๆ หายไป
ถ้าอยู่ดี ๆ ตลาดที่คุณกำลังโลดแล่นอยู่ค่อย ๆ แคบลง จากเคยผลิตสินค้า 1,000 ชิ้น เหลือ 500 ชิ้นต่อเดือน นั่นแสดงให้เห็นว่า ความต้องการของผู้บริโภคได้เปลี่ยนไปแล้ว ถ้าคุณต้องการที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน คุณต้องสังเกตให้ได้ว่า ตลาดกำลังเปลี่ยนไปในทิศทางใด และคุณจะพัฒนาสินค้าอย่างไร ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงนี้ หรืออาจจะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านราคาเพื่อแข่งขันกับผู้ค้ารายอื่น
หรือถ้ามากไปกว่านั้น เมื่อคุณพบว่าตลาดมีความต้องการลดลงอย่างต่อเนื่อง นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณต้องย้ายตัวเองไปสู่ตลาดใหม่ หรือฉีกแนวสินค้าเดิมที่มีอยู่ให้ได้
คุณไม่มีเวลาให้กับธุรกิจเลย
บางครั้งปัญหาอาจไม่ได้เกิดจากตัวสินค้า แต่เกิดจากตัวคุณเอง ซึ่งปัจจัยในการทำธุรกิจนั้นก็ขึ้นอยู่กับการบริหารคน การจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ด้วย และในกระบวนการเหล่านี้ก็ใช้เวลาไม่น้อย ถ้าคุณต้องให้เวลากับงานประจำ ควบคู่กับการทำธุรกิจส่วนตัว คุณอาจพบว่า มีคู่แข่งหน้าใหม่ผุดขึ้นมาเต็มไปหมด และยังนำเสนอสินค้าที่ดีกว่าคุณอีกด้วย คุณต้องชั่งน้ำหนักให้ได้ว่าสิ่งไหนที่สำคัญที่สุด และจงเลือกทำสิ่งนั้นต่อไป
คุณไม่มีแผนระยะยาว
ในช่วงแรกถ้าคุณต้องการทดลองตลาด และยังไม่ได้ต้องการกำไรจากการจำหน่ายสินค้ามากนัก ในกรณีนี้คุณไม่จำเป็นต้องวางแผนระยะยาว แค่ทำการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค ปรับปรุง เรียนรู้การทำงานในรูปแบบต่าง ๆ หรือการค้นหาตัวเอง
แต่ถ้าวันที่คุณต้องการกำไรมาถึง แต่คุณกลับไม่มีแผนระยะสั้น-ยาวรองรับเลย รอแต่เวลาและโอกาสเท่านั้น ความสำเร็จก็จะยิ่งไปไกลมากขึ้น ถ้าคุณไม่ลงมือทำอะไรสักอย่าง
เริ่มรู้สึกเบื่อกับทุกอย่าง
หากคุณกำลังมองหาความตื่นเต้นในการทำธุรกิจ แน่นอนว่าในช่วงเริ่มต้น ทุกสิ่งทุกอย่างก็สนุกไปหมด แต่เมื่อวันที่คุณรู้สึกเบื่อหน่าย มองเห็นแต่ปัญหามากกว่าโอกาส นี่ถือเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่คุณจะหยุดพัก ถ้าคุณไม่หลงใหลการทำธุรกิจอีกต่อไป การหยุดเมื่อรู้ตัว ย่อมดีกว่าต้องหยุดเมื่อล้มเหลวไปแล้ว
ในการทำธุรกิจ ไม่มีสูตรสำเร็จ โดยแบรนด์ใหญ่ ๆ ที่เราเห็นกัน พวกเขาก็ต้องปรับตัว และ R&D สินค้าและบริการอยู่เสมอ เพื่อให้ทันกระแส ทันต่อความต้องการของลูกค้า ในทางกลับกัน แบรนด์เล็ก ๆ เงินทุนน้อย แต่หากรู้จักวิธีทำการตลาด เข้าถึงลูกค้าได้ถูกจุด โดนใจ หยิบจับเทรนด์ที่กำลังฮิต มาโปรโมททันต่อกระแส ก็มีโอกาสที่แบรนด์ของคุณจะเติบโต โด่งดัง เป็นที่รู้จักชั่วข้ามคืนก็เป็นได้
สิ่งสำคัญ เมื่อมองเห็นปัญหา ให้รีบแก้ไข เพื่อให้ธุรกิจเดินไปต่อได้ แต่ถ้าคุณพยายามแก้ไข ทำใหม่ให้ดีขึ้นแล้ว.. แต่มีปัจจัยหลายอย่างมากระทบ ทำให้คุณรู้สึกว่า เหนื่อยมาก ๆ แล้ว ถ้าเช่นนั้น ไม่ไหว..ก็อย่าฝืน หยุดแค่นี้ แล้วกลับมาตั้งหลักใหม่ แล้วรอโอกาส ทำใหม่อีกครั้งให้ดีกว่าเดิม เช่นนี้ก็ไม่ผิด ลองนำไปปรับใช้กันดูนะ