มาดูกันว่าอาหารในแต่ละมื้อที่เราเลือกรับประทานหรืออาหารจานโปรดของคุณ จะใช่อาหารช่วยบำรุงกระดูกหรือเปล่า
1. บริโภคอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมสูง
เนื่องจากแคลเซียมเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการสร้างเนื้อกระดูกและป้องกันการสูญเสียเนื้อกระดูก การได้รับแคลเซียมจากอาหารอย่างเพียงพอจะช่วยป้องกันการสูญเสียมวลกระดูก
แหล่งอาหารที่อุดมด้วยแคลเซียมได้แก่ อาหารจำพวกผักใบเขียว เช่น บร็อคโคลี ผักกาดเขียว ผักกวางตุ้ง คะน้า แขนงผัก และดอกกระหล่ำ นอกจากนี้นมหรือผลิตภัณฑ์จากนม นมถั่วเหลือง เต้าหู้ และอาหารจำพวกถั่ว ถั่วอัลมอนด์ ถั่วลาย และงาก็ยังให้แคลเซียมสูงด้วย
2. บริโภคอาหารที่มีฟอสฟอรัสให้พอดี
เพราะฟอสฟอรัสเป็นแร่ธาตุที่มักจะทำงานร่วมกับแคลเซียม ในการสร้างและเพิ่มความแข็งแรงของกระดูก อัตราส่วนของแคลเซียมและฟอสฟอรัสที่ 1.2 : 1 จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดียิ่งขึ้น
แหล่งอาหารที่ให้ฟอสฟอรัส เช่น เนื้อ นม ปลา เป็ด ไข่ ไก่ เนยแข็ง ตับ ข้าวกล้อง ถั่ว ยีนส์ เป็นต้น
3. บริโภคอาหารที่มีแมกนีเซียมให้เพียงพอ
แมกนีเซียมจะพบมากในร่างกายเป็นอันดับสองรองจากแคลเซียม แมกนีเซียมช่วยในการสร้างเสริมความแข็งแรงให้กับกระดูกและฟัน ทำให้กระดูกและฟันมีความหนาแน่นเพิ่มขึ้น จึงช่วยทำให้ขยายระยะเวลาในการเสื่อมของกระดูกให้ยืดนานออกไป
แหล่งอาหารที่อุดมด้วยแมกนีเซียม ได้แก่ ถั่วต่างๆ ธัญพืช แป้ง และอาหารทะเล
4. บริโภคอาหารที่มีวิตามินดี
เนื่องจากวิตามินดีเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อกระดูก ช่วยสร้างโปรตีนในการดูดซึมของแคลเซียม ทำให้การดูดซึมแคลเซียมเป็นไปโดยปกติและช่วยในการสร้างกระดูกเพิ่มขึ้น โดยปกติร่างกายควรได้รับวิตามินดี 600-800 IU/วัน
แหล่งอาหารที่มีวิตามินดีสูง ได้แก่ น้ำมันตับปลา เนื้อ ปลาที่มีไขมัน ตับ และไข่แดง เป้นต้น นอกจากนี้วิตามินดีสามารถรับได้จากแสงแดดอ่อนๆ ด้วย ดังนั้นเพื่อการมีกระดูกที่แข็งแรงร่างกายควรได้รับแสงแดดอ่อนๆ ทุกวันอย่างน้อยวันละ 10-15 นาที / วัน