เทคนิครับมือลูกกับอาการเบื่ออาหาร


เทคนิครับมือลูกกับอาการเบื่ออาหาร

          ปัญหาการปฏิเสธอาหารนี้พบในเด็กช่วยอายุ 1-3 ปี ลักษณะปัญหาจะแตกต่างกันออกไปตั้งแต่กินช้า เคี้ยวช้า อมข้าว บ้วนทิ้ง อาเจียน ไปจนถึงร้องไห้อาละวาดไม่ยอมกิน นำความเครียดมาให้ผู้เลี้ยงดูเป็นอย่างยิ่ง สิ่งที่ควรทำความเข้าใจ คือ เด็กวัยนี้กำลังพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง เริ่มต่อต้านผู้ใหญ่ สนใจเรียนรู้สิ่งแวดล้อมมากกว่าการกิน และอัตราการเจริญเติบโตจะลดลงจากขวบปีแรก หากยิ่งอ้อนวอน บังคับ เคี่ยวเข็ญ หรือลงโทษอาจทำให้เกิดปัญหาเรื้อรังและหนักขึ้นได้ อีกทั้งยังทำให้สัมพันธภาพระหว่างเด็กกับผู้เลี้ยงดูแย่ลงอีกด้วย อย่างไรก็ตามปัญหาเหล่านี้มีวิธีการดูแลแก้ไขได้ไม่ยากนัก
          พญ.กุลนิดา เต็มชวาลา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ประจำศูนย์สุขภาพเด็กโรงพยาบาลนครธนได้แนะนำเทคนิคการดูแลเด็กปฏิเสธอาหาร ดังนี้
          1. พ่อแม่ควรปล่อยให้เรื่องการกินอาหารเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเด็กเอง พ่อแม่มีหน้าที่เพียงจัดเตรียมอาหารไว้ให้ โดยอาหารควรมีสีสันและดูน่ารับประทาน รวมถึงมีอาหารที่เด็กชอบรวมอยู่ด้วย
          2. ตักอาหารให้เด็กด้วยปริมาณน้อย หรืออาจให้เด็กเป็นคนกำหนดปริมาณอาหารเอง ถ้าหมดแล้วค่อยเติมใหม่
          3. บรรยากาศของการกินควรจะสงบ ไม่มีสิ่งดึงดูดความสนใจของเด็ก เช่น ไม่เปิดทีวี ไอแพด หรือให้เล่นของเล่นพร้อมกินอาหาร เป็นต้น
          4. ให้เด็กมีโอกาสนั่งร่วมโต๊ะกับผู้ใหญ่ เพื่อเลียนแบบลักษณะท่าทาง วิธีการกิน และเพิ่มสัมพันธภาพที่ดีในบ้าน
          5. ไม่บังคับหรือเคี่ยวเข็ญให้เด็กกิน หากครบกำหนดเวลา 30 นาทีหรือผู้ใหญ่กินเสร็จเรียบร้อยแล้วให้เก็บอาหารออกจากโต๊ะ โดยบอกเด็กเพียงแค่ว่าหมดเวลาอาหารแล้ว โดยที่ระหว่างมื้อนั้นไม่ให้รับประทานอาหารว่าง ขนม นม หรือเครื่องดื่มอื่นใดทั้งสิ้น นอกจากน้ำเปล่า จนกว่าจะถึงมื้อถัดไป (ร่างกายของเด็กจะปรับตัวกินมากขึ้นในมื้อถัดไป)
          6. หากมีอาหารบางอย่างที่เด็กไม่ชอบ เช่น ผัก เนื้อสัตว์บางชนิด พ่อแม่ไม่ควรบังคับเคี่ยวเข็ญ แต่ให้ลองดัดแปลงรูปแบบอาหารต่างๆ เช่น หั่นเป็นชิ้นลูกเต๋าเล็กๆผสมในข้าวผัด หรือจัดอาหารนั้นบนโต๊ะอาหารบ่อยๆ แล้วค่อยๆชักชวนให้เด็กลองทีละน้อย ซึ่งผู้ใหญ่ควรมีท่าทีแสดงความชอบในอาหารนั้นเป็นตัวอย่างแก่เด็กด้วย
          7. สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ พ่อแม่ต้องใช้ความอดทน เอาจริง และสม่ำเสมอ
          หากทำได้ตามเทคนิคเหล่านี้ นอกจากจะช่วยทำให้ลูกรักมีสุขภาพที่สมบูรณ์ แข็งแรง ช่วยลดระดับความกังวลเรื่องการกินยากของเด็กในผู้ปกครองแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้มีสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวเพิ่มขึ้นอีกด้วยค่ะ เริ่มต้นง่ายๆได้ตั้งแต่มื้อนี้

 

ขอบคุณรูปภาพ : http://www.maerakluke.com/wp-content/uploads/2014/02/753951.jpg