รู้ได้ไงว่าเป็นไข้เลือดออก?? ตรวจดูอาการของโรคกัน!!


       ยุงลาย ภัยร้ายไข้เลือดออกที่ทุกคนควรระวังโดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนและเขตร้อนชื้นมักมียุงลายชุกชุม ซึ่งก็เป็นปัญหาที่หลายๆคนกังวลใจ โดยส่วนมากแล้วเรามักจะพบผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกในตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงอายุ 25 ปีเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสาเหตุที่เด็กมีโอกาสเป็นโรคไข้เลือดออกมากกว่าผู้ใหญ่นั้นมาจากยุงลายมักชอบกัดเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ และในวัยเด็กมักจะไม่ค่อยระมัดระวังตัวเท่าที่ควรจึงทำให้เกิดโรคนี้ได้ง่ายกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในวัยผู้ใหญ่ก็สามารถเกิดโรคไข้เลือดออกได้เช่นกัน ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตในวัยผู้ใหญ่นั้นมักมาจากแพทย์วินิจฉัยโรคได้ล่าช้า เนื่องมาจากในวัยผู้ใหญ่มักมีโรคประจำตัวจึงทำให้การพยากรณ์โรคไม่ดีมากนัก อีกทั้งการมีโรคประจำตัวทำให้การรักษายุ่งยากกว่าในวัยเด็กอีกด้วย

อาการของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก

       หลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5-8 วัน (ระยะฟักตัว) ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการของโรค ซึ่งมีความรุนแรงแตกต่างกัน ไปจนถึงมีอาการรุนแรงมากจนถึงช็อกและถึงเสียชีวิตได้ โรคไข้เลือดออกมีอาการสำคัญที่เป็นรูปแบบค่อนข้างเฉพาะ 4 ประการ เรียงตามลำดับการเกิดก่อนหลังดังนี้
1. ไข้สูงลอย 2-7 วัน
2. มีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบที่ผิวหนัง 
3. มีตับโต กดเจ็บ 
4. มีภาวะการไหลเวียนล้มเหลว/ภาวะช็อก อาการไข้ ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทุกรายจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส ไข้อาจสูงถึง 40-41 องศาเซลเซียส ซึ่งบางรายอาจมีชักเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติชักมาก่อน หรือในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง และคอแดงได้ แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการน้ำมูกไหลหรืออาการไอ ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคจากโรคหัดในระยะแรกและโรคระบบทางเดินหายใจได้ เด็กโตอาจปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา ในระยะไข้นี้ และยังมีอาการทางระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อย คือ เบื่ออาหาร อาเจียน บางรายอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย ซึ่งในระยะแรกจะปวดทั่วๆไปหรืออาจปวดชายโครงขวาในระยะที่มีตับโต ส่วนใหญ่ไข้จะสูงลอยอยู่ 2-7 วัน ประมาณร้อยละ 15 อาจมีไข้สูงนานเกิน 7 วัน
 
 
ขอบคุณเนื้อหาเพิ่มเติมจาก สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง