ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นสารชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาใช้เป็นสารฟอกขาว ซึ่งสารเคมีชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มซัลไฟต์ มีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น ใช้เป็นวัตถุกันเสียเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ยีสต์ และรา และยังมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการเปลี่ยนสีของหารไม่ให้เป็นสีน้ำตาลเมื่ออาหารถูกความร้อยจากกระบวนการผลิต นอกจากนี้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ยังถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น ผสมในน้ำยาอัดรูป ฟอกสีผ้า กระดาษ สบู่ เป็นต้น
การใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในอาหารเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่ต้องไม่เกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด โดย อย.กำหนดให้มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิทได้ไม่เกิน 70 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนองค์การอนามัยโลกได้กำหนดค่าความปลอดภัยไว้ คือปริมาณที่ได้รับไม่เกิน 0.7 มิลลิกรัม/คน/วัน
ซัลเฟอร์ไดออกไซด์เมื่อใช้ในปริมาณที่พอเหมาะจะไม่เกิดอันตราย เพราะร่างกายสามารถขับออกทางปัสสาวะได้ แต่หากได้รับมากเกินไปจะไปลดประสิทธิภาพการใช้โปรตีนและไขมันในร่างกาย และมีฤทธิ์ทำลายวิตามินบี 1 ด้วย หากร่างกายมีการสะสมสารนี้ในปริมาณมาก จะทำให้หายใจไม่สะดวก ปวดท้อง ท้องร่วง เวียนศีรษะ อาเจียน ในรายที่มีอาการแพ้รุนแรงหรือผู้ป่วยหอบหืดอาจช็อค หมดสติ และถึงแก่ความตายได้
อาหารที่นิยมใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์
-ผักผลไม้แห้ง ผักผลไม้ดอง ผักและผลไม้กระป๋อง ผักผลไม้แช่อิ่ม ผลไม้กวน แยม
-ผลิตภัณฑ์ประเภทน้ำตาล เช่น น้ำตาลทราย น้ำตาลปี๊บ น้ำเชื่อม
-ผลิตภัณฑ์แป้ง เช่น เส้นหมี่และก๋วยเตี๋ยว วุ้นเส้น แป้ง
-อาหารแช่แข็ง
-เจลาตินและอื่นๆ
ผู้บริโภคที่สงสัยว่าอาหารที่นำมารับประทานนั้นมีการใช้สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินขนาดหรือไม่ อย.มีวิธีแนะนำง่าย ๆ โดยก่อนที่จะนำมาปรุงอาหาร โดยเฉพาะอาหารแห้ง เช่น เห็ดหูหนูขาว ดอกไม้จีน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่พบว่ามีการใส่สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ผู้บริโภคควรล้างให้สะอาดโดยให้น้ำสะอาดไหลผ่าน หรือลวกในน้ำเดือดประมาณ 2 นาทีก่อนนำไปปรุงอาหารทุกครั้งจะช่วยลดปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ถึงกว่าร้อยละ 90
ส่วนผลิตภัณฑ์ประเภทผลไม้อบแห้งที่สามารถรับประทานได้เลย เช่น พุทราจีนแห้ง ผลแอปปริคอทแห้ง ไม่ควรเลือกซื้อที่มีสีสันจัด เนื่องจากในกระบวนการผลิตผลไม้อบแห้งต้องผ่านความร้อยสูง ส่งผลให้สีสันและเนื้อสัมผัสของผลิตภัณฑ์เสียไปด้วย หากสีสันสวยงามมากผิดปกติ ให้สันนิษฐานว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆอาจมีการใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์จำนวนมาก
ขอบคุณข้อมูลจาก อย. และรูปจาก http://www.bloggang.com/