เมื่อเข้าสู่วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน ความแข็งแรงของร่างกายจะลดลงอย่างรวดเร็ว เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในร่างกายครั้งสำคัญ โดยเกิดกับหญิงอายุเฉลี่ยตั้งแต่ 45 ปี ขึ้นไปจนถึง 50 ปี และช่วงภาวะหลังวัยทอง ตั้งแต่อายุ 50-60 ปี ผู้หญิงเมื่อเข้าสู่วัยทองอาจทำให้มีอาการต่างๆ เช่น ร้อนวูบ เหงื่อออกตอนกลางคืน ซึมเศร้า นอนหลับไม่สนิท ไปจนถึงปัญหาสุขภาพ เช่น โรคกระดูกพรุน หรือ ภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบตัน ความจำเสื่อม อันเนื่องจากร่างกายมีฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง โดยความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้นนั้นจะขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและสุขภาพของแต่ละคนด้วยเช่นกัน
นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ ในเครือโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้คำแนะนำในการปรับตัวสำหรับผู้หญิงวัยทองไว้ดังนี้
-รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่
-นอนหลับสนิท พักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉพาะช่วงตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนร่างกายของคนเราจะเริ่มผลิตฮอร์โมนที่ช่วยต่อต้านความชราได้เต็มที่ สำหรับผู้ที่นอนหลับยากแนะนำให้ดื่มชาคาโมมายด์ ชาสมุนไพรอุ่น ๆ หรือใช้น้ำมันหอมระเหยนวดผ่อนคลายก่อนนอน
-ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ควบคุมน้ำหนัก และเพิ่มความแข็งแรงของกระดูก
-หมั่นตรวจเช็คร่างกายอยู่เสมอ เช่น หู ตา ฟัน และผิวหนัง และควรตรวจเต้านม และมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ
-หลีกเลี่ยงความเครียด ความวิตกกังวลต่าง ๆ ควรคิดเรื่องต่าง ๆในเชิงบวก หาเวลานั่งสมาธิ
-หาเวลาไปพบปะสังสรรค์ในกลุ่มเพื่อน หรือสมาชิกในครอบครัวอยู่เสมอ
ถ้าทำได้ครบทุกข้อที่กล่าวมา รับรองว่าคุณจะก้าวผ่านวัยทองได้อย่างมีความสุข
ขอบคุณรูปจาก http://www.thaihealth.or.th/