รู้จัก “ฉลากเขียว” เครื่องหมายช่วยสะท้อนความยั่งยืนของแบรนด์ต่อสิ่งแวดล้อม
ฉลากเขียวของประเทศไทย ริเริ่มขึ้นโดยองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development, TBCSD)
เมดไทย (MedThai) เว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลด้านการแพทย์ โรคภัยไข้เจ็บโดยทั่วไป ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับแล้วอาหารที่คนท้องไม่ควรกิน โดยระบุว่า อาหารที่กินกันอยู่เป็นประจำไม่มีข้อห้ามอะไรสำหรับคุณแม่ เพียงแต่ควรงดเว้นอาหารที่กินแล้วจะทำให้ท้องเสียได้ง่าย ทำให้เกิดกรดไหลย้อน หรือทำให้ร่างกายไม่ได้รับคุณค่าทางอาหารที่กินเข้าไปอย่างเต็มที่ เพราะกินเข้าไปแล้วก็เท่ากับว่าเสียเปล่า มาดูกันว่า “คนท้องควรลด หลีกเลี่ยง หรืองดกินอาหารอะไรบ้าง” ดังนี้
1.อาหารรสจัด คุณแม่ควรงดหรือหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสจัดมากๆ ไม่ว่าจะเผ็ดจัด เค็มจัด เปรี้ยวจัด หวานจัด หรืออาหารที่ใช้เครื่องปรุงแต่งมาก (กลิ่น สี และรส ตลอดจนการใช้สารเคมีกันบูด) ก็ควรเลี่ยงครับ เอาแค่พอดี ๆ เพราะในระหว่างการตั้งครรภ์นั้นระบบการย่อยอาหารของคุณแม่จะผิดปกติไปจากเดิม โอกาสที่จะทำให้เกิดอาการท้องอืดแน่นเฟ้อก็มีได้ง่ายอยู่แล้ว แม้ว่าจะกินอาหารตามปกติก็ตาม คุณแม่หลาย ๆ คนที่มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้ออยู่บ่อย ๆ ก็ควรหลีกเลี่ยง
2.อาหารก่อโรคกรดไหลย้อน ในช่วงตั้งครรภ์นั้น โอกาสที่คุณแม่จะเป็นโรคกรดไหลย้อนก็มีมากขึ้นเป็นธรรมดา ส่วนอาการก็คงไม่ต้องพูดถึงตอนปกติเป็นยังไง ตอนตั้งครรภ์หนักกว่าหลายเท่าครับ ซึ่งอาหารที่กินแล้วเสี่ยงทำให้เป็นกรดไหลย้อนก็เช่น อาหารประเภทไขมันสูง, อาหารทอด, อาหารที่มีรสจัด, อาหารจำพวกแป้งที่ต้องอุ่นซ้ำ, ชา, กาแฟ, น้ำอัดลม, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ชีส, หมากฝรั่ง, รวมถึงยาบางชนิด เช่น ยาขยายหลอดลม ถ้าทราบแล้วก็ควรระวังให้ดี
3.อาหารที่กินแล้วท้องผูก ท้องผูกกับคนท้องเป็นของคู่กัน ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดริดสีดวงทวารได้ง่าย อาหารที่กินแล้วทำให้ท้องผูกหรือย่อยได้ยาก คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงไว้หรือลดปริมาณลง หันมารับประทานอาหารที่กากใยสูงๆ อย่างผักและผลไม้แทน
4.อาหารที่กินแล้วแพ้ & อาหารเป็นพิษ ข้อนี้ก็คงทราบดีกันอยู่แล้วถ้าแพ้อาหารชนิดใดก็อย่าเผลอกินเข้าไป เพราะบางคนจะมีอาการแพ้มากขึ้นในระหว่างที่กำลังตั้งครรภ์ เช่น อาหารทะเล โดยเฉพาะกุ้งที่คนแพ้กันมาก แค่ปกติตอนยังไม่ท้องกินเข้าไปก็แย่แล้ว ยิ่งถ้าแพ้ขึ้นมาในขณะตั้งครรภ์ล่ะจะเป็นอันตรายแค่ไหนก็ลองคิดดู ส่วนอาหารที่เป็นพิษนั้นจะมีแบคทีเรียบางชนิดที่เป็นตัวสร้างสารพิษปนเปื้อนออกมาในอาหาร ถ้าคุณแม่รับประทานเข้าไปจะทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะอาหารส่วนบนและลำไส้ส่วนบน ทำให้คุณแม่มีอาการปวดท้อง ท้องเสีย และอาเจียน
5.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คุณแม่สมัยใหม่บางคนอาจจะอยู่ในสังคมธุรกิจหรือมีการติดต่อพบปะผู้คนอย่างหลากหลาย บางทีก็มีงานเลี้ยงสังสรรค์ที่จำเป็นต้องเข้าร่วมและอาจจะมีการดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์ วิสกี้ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อื่น ๆ ถ้าดื่มเพียงปริมาณเล็กน้อยก็คงไม่มีอันตรายหรือกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์ แต่ถ้าเลี่ยงได้ “คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาด” เพราะการคิดจะจิบเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้คุณแม่ติดและเผลอดื่มต่อโดยไม่รู้ตัวก็ได้ คือ ไม่จิบเลยก็จะดีที่สุดครับ เพราะถ้าดื่มมากเกินไปก็ไม่ดีต่อลูก หรือดื่มจนติดจนเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholism) อาจทำให้ลูกน้อยเสียชีวิตในครรภ์ หรือเมื่อคลอดออกมาแล้วมีน้ำหนักตัวน้อย เติบโตช้า ศีรษะเล็ก ใบหน้าเล็ก คางสั้น ปัญญาอ่อน และเกิดความพิการของหัวใจและหลอดเลือดได้ เนื่องจากแอลกอฮอล์จะทำให้น้ำตาลกลูโคสและกรดอะมิโนผ่านทางรกและสายสะดือได้น้อยลง จึงทำให้ทารกได้รับออกซิเจนและสารอาหารจำเป็นต่างๆ ไม่เพียงพอ
6.อาหารสำเร็จรูป & อาหารกระป๋อง อาหารที่เก็บรักษาไว้ได้นานมักจะมีสารเคมีเจือปนเพื่อเพิ่มรสชาติและเพิ่มระยะเวลาในการเก็บ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสำเร็จรูปโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะไส้กรอก อาหารกระป๋อง เนื้อกระป๋อง แกงกระป๋อง ฯลฯ และที่สำคัญก็คือคุณแม่ไม่ควรซื้ออาหารโดยไม่ได้อ่านฉลากระบุส่วนประกอบและวันหมดอายุ เพราะคุณแม่จะไม่รู้เลยว่าสิ่งที่รับประทานเข้าไปนั้นมีอะไรบ้าง เพราะบางอย่างก็เป็นอันตรายต่อคุณแม่และลูกในครรภ์ได้หากได้รับเข้าไปในปริมาณมาก เช่น ผงชูรส (MSG) ที่จะทำให้ร่างกายขาดน้ำและปวดศีรษะมาก
7.อาหารที่เก็บรักษาได้นาน (อาหารตากแห้ง, อาหารหมักดอง) คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารตากแห้ง อาหารหมักดอง อาหารตากแห้ง ปลาเค็ม กุนเชียง ไส้กรอก เพราะอาหารเหล่านี้จะมีส่วนประกอบของไนเตรตค่อนข้างมาก ซึ่งจะไปทำปฏิกิริยากับสารฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ทำให้การนำออกซิเจนจากเลือดไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้น้อยลง ทำให้ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงที่จะได้รับออกซิเจนน้อยลงตามไปด้วย
8.อาหารไขมันสูง อย่างอาหารทอดหรือผัดที่ต้องใส่น้ำมันมากๆ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวร้ายที่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยง เพราะทานแล้วจะย่อยได้ยาก ถ้าทานมากก็ทำให้ท้องอืด แน่นท้อง อึดอัด และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ โดยแปรสภาพเป็นไขมันไปจับอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมของคุณแม่ได้
9.ผงชูรส วัตถุดิบที่ใช้ผลิตผงชูรสในปัจจุบันคือมันสำปะหลังและกากน้ำตาล โดยนำมาผ่านกระบวนการทางเคมีหลายอย่างจนออกมาเป็นผงชูรส หรือที่เรียกว่า “โมโนโซเดียม กลูตาเมต” (MSG) เป็นผงที่ละลายน้ำได้ดี มีรสเหมือนน้ำต้มเนื้อ มีคุณสมบัติกระตุ้นปุ่มปลายประสาท โคนลิ้น และลำคอ ทำให้รับรสอาหารได้ไวยิ่งขึ้น จึงเหมาะนำมาใช้กับอาหารที่มีรสอ่อนๆ เช่น ผัดผัก แกงจืด ฯลฯ แต่ถ้าเป็นอาหารที่มีรสจัดก็ไม่จำเป็นต้องใส่ เพราะประสาทรับรสเราแยกไม่ออกอยู่แล้ว ส่วนในด้านคุณค่าทางสารอาหาร ผงชูรสไม่มีคุณค่าทางอาหารเลยครับ ถ้าเปลี่ยนมาใช้น้ำต้มกระดูกหมู กระดูกไก่ หรือใส่น้ำตาลกับเกลือลงไปเล็กน้อย นอกจากจะช่วยปรุงรสให้อร่อยได้เหมือนกันแล้วยังมีคุณค่าทางอาหารอีกด้วย
10.แป้งกรอบหรือผงกรอบ หรือที่คนจีนเรียกว่า “เพ่งเซ” จัดเป็นสารเคมีจำพวกบอแรกซ์ที่นำมาใช้ในการปรุงอาหารเพื่อให้อาหารมีความเหนียวและกรุบกรอบ อย่างเช่น ลูกชิ้น (ที่เราคุ้นเคย) คือมันก็กรอบอร่อยดีหรอก แต่มันก็มีอันตรายแฝงอยู่มากเช่นกัน คือจะทำให้ระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินอาหาร ทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้เป็นแผล เกิดอาการอาเจียน ท้องเดิน ในรายที่กินเข้าไปมาก ๆ คือครั้งละ 3-4 ช้อนชา ก็อาจทำให้ถึงตายได้เลย คงไม่ต้องสงสัยว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ทานแล้วจะเป็นอะไรหรือเปล่า ทางที่ดีถ้าคุณแม่รู้ว่าอาหารนั้น ๆ มีแป้งกรอบหรือผงกรอบผสมอยู่ก็ควรจะงดไม่รับประทานไปเลยจะดีกว่า
11.ยาจีนหรือยาหม้อ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นยาบำรุงนั้น ในวงการแพทย์แผนปัจจุบันยังไม่มีการพิสูจน์กันว่ายาจีนหรือยาหม้อนั้นมีประโยชน์มากน้อยเพียงใด หรือมีอันตรายใด ๆ หรือไม่ อีกทั้งตำรับหรือส่วนผสมก็ไม่แน่นอน บางอย่างก็ค่อนข้างมีราคาแพง ไม่จำเป็นต้องไปซื้อมากิน เพราะอาจจะได้ไม่คุ้มกับเงินที่เสียไป บางรายก็มีอาการแพ้ยาเหล่านี้ สู้เอาเงินไปซื้ออาหารเสริมตามที่คุณหมอแนะนำมาทานทุกวันจะมีประโยชน์มากกว่า เช่น วิตามินบีรวม ธาตุเหล็ก เพราะได้มีการพิสูจน์มาแล้วว่า มีความจำเป็นสำหรับทารกในครรภ์และมีประโยชน์อย่างแน่นอน
12.ชา กาแฟ โอเลี้ยง ช็อกโกแลต (เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน) คุณแม่สมัยใหม่หลายรายจะติดการดื่มชาและกาแฟกันมาก ตอนตั้งครรภ์จะให้เลิกก็อาจตัดใจลำบากหน่อย แต่เพื่อเจ้าตัวน้อยในครรภ์คงไม่เหลือบ่ากว่าแรงใช่ไหมครับ เพราะการดื่มชาแก่ ๆ จะทำให้ท้องผูกได้ง่าย คนที่มีอาการท้องผูกอยู่แล้วผมว่าควรจะหลีกเลี่ยงไว้ครับ เพื่อให้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างปกติ หากผิดปกติไปจะทำให้คุณแม่รู้สึกอึดอัดมากและเกิดริดสีดวงทวารได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีชาบางชนิดที่ไม่ควรดื่ม เช่น ชาดอกคำฝอย เพราะชาชนิดนี้มีฤทธิ์ทำให้มดลูกบีบตัว ซึ่งเป็นอันตรายต่อคุณแม่ อีกทั้งสารแทนนินที่มีอยู่ในชายังขัดขวางการดูดซึมของธาตุเหล็กได้อีกด้วย ส่วนกาแฟนั้นถ้าดื่มมากเกินไปก็อาจทำให้คุณแม่ใจสั่นและนอนไม่หลับได้ เกิดการพักผ่อนไม่เพียงพอตามมา ซึ่งการพักผ่อนเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
13.น้ำอัดลม ส่วนใหญ่แล้วน้ำอัดลมจะประกอบไปด้วยน้ำ น้ำตาล และกาเฟอีนเหมือนที่มีอยู่ในกาแฟ สามารถให้ความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า และมีน้ำตาลที่ช่วยเพิ่มพลังงาน แต่ในแง่ของคุณค่าทางอาหารนั้นไม่มีเลยครับ ถ้าดื่มมาก ๆ ก็ทำให้คุณแม่อ้วนได้ แนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงแล้วหันไปดื่มน้ำผลไม้คั้นสดหรือน้ำดื่มสะอาด ๆ ก็จะมีประโยชน์มากกว่า
14.อาหารที่เพิ่มน้ำหนักแต่ไม่ให้คุณค่า ก็ไม่ได้ห้ามทานซะทีเดียว เพียงแต่ลดได้ก็ควรจะลด หรือถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็จะยิ่งดีต่อสุขภาพของแม่และลูกน้อยในครรภ์ เช่น ขนมหวาน (เช่น ทองหยิบ ทองหยอด มันเชื่อม ขนมชั้น ไอศกรีมรสหวานจัด ฯลฯ), สารให้รสหวาน (เช่น น้ำตาลทรายขาวหรือแดง น้ำตาลเทียม ขัณฑสกร ฯลฯ), ครีมเทียม, ขนมเค้กหรือขนมปังที่มีแป้งเป็นส่วนประกอบ, เครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม น้ำผลไม้สำเร็จรูป ผลไม้กระป๋องเชื่อมต่าง ๆ เป็นต้น
15.ผลไม้บางอย่าง เช่น มะม่วงดิบ ที่ย่อยได้ยากกว่ามะม่วงสุก ซึ่งอาจทำให้คุณแม่เกิดอาการแน่นท้องได้ (ในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ในไตรมาส 2-3 ยิ่งควรหลีกเลี่ยง เพราะช่วงนี้มดลูกจะโตขึ้นจนเบียดกระเพาะอาหาร ทำให้กระเพาะอาหารย่อยได้ช้าลง) ส่วนมะม่วงสุกไม่มีข้อห้ามอะไรครับ ทานได้ตามปกติ แต่ไม่ควรทานบ่อยหรือทานในปริมาณมาก ๆ, ทุเรียน อีกหนึ่งผลไม้ที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะทำให้เกิดแก๊สในลำไส้ได้มาก อาจทำให้คุณแม่มีอาการจุกเสียดแน่นท้องหรือแน่นหน้าอกได้ แม้จะไม่เป็นอันตรายมากนัก แต่ก็สร้างความทรมานได้มาก, ผลไม้รสหวานจัด เช่น ลำไย เงาะ มะม่วงสุก มะละกอสุก น้อยหน่า อินทผลัม เป็นต้น
16.ผักเครือเถา มีหลายๆ ข้อมูลระบุว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานผักเครือเถา เช่น ตำลึง ยอดมะระ ยอดฟักแม้ว ยอดฟักทอง ฯลฯ เพราะมีความเชื่อว่าเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์กินเข้าไปแล้วจะทำให้คลอดลูกได้ยาก แต่ก็มีวิธีแก้เคล็ดกันด้วยการเด็ดมือของผักพวกนี้ออกก่อน ก่อนจะนำไปปรุงเป็นอาหารรับประทาน ส่วนนี้ใครจะเชื่อก็เชื่อไปนะครับ แต่โดยส่วนตัวผมแล้วมองว่าถ้าคุณแม่ชอบก็ทานได้ตามปกติ แถมยังช่วยในการขับถ่ายป้องกันท้องผูกได้อีกด้วย
17.อาหารอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวมาแล้วยังมีอาหารที่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงในขณะตั้งครรภ์ ได้แก่ อาหารที่ใส่เกลือมาก ๆ (อาจทำให้มีปัญหาบวมและเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษ), อาหารค้างแช่แข็ง (เพราะอาจมีเชื้อแบคทีเรีย), เครื่องดื่มชูกำลัง โกโก้ร้อน และเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนทุกชนิด, อาหารที่ปรุงไม่สุก (เช่น ไข่ดิบ, เนื้อหรือปลาดิบ, ซูชิ, อาหารทะเลสด, หอยนางรม, ปลาแซลมอนรมควัน, สเต๊กบางชนิด), อาหารที่ผ่านการปรุงบางชนิด (เช่น สลัดมันฝรั่ง หรือโคสลอว์ ที่บางครั้งอาจมีเชื้อแบคทีเรีย Listeria อยู่มาก), ตับ (ทานได้บ้าง แต่ไม่ควรทานในปริมาณมากและทานทุกวัน เพราะตับมีวิตามินเออยู่มาก ซึ่งอาจมีผลต่อลูกน้อยในครรภ์ได้), ปลาบางชนิด เช่น ปลาดาบเงิน ปลากระโทงแทง ปลาฉลาม รวมถึงหูฉลาม ซึ่งปลาเหล่านี้จะมีสารปรอทอยู่ในระดับที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งอาจทำอันตรายต่อระบบประสาทที่กำลังพัฒนาของลูกน้อยในครรภ์ได้ ส่วนปลาทูน่าก็มีสารปรอทเช่นกัน เพียงแต่คุณแม่ควรจำกัดปริมาณการรับประทานไม่เกิน 2 ชิ้นต่อสัปดาห์, บาร์บีคิว (เพราะเนื้อมักถูกวางทิ้งไว้นาน ๆ ก่อนจะนำมารับประทาน), เนื้อที่ใส่ในแซนด์วิช, ถั่วลิสง, ชีสประเภทนิ่ม, เนยแข็ง, นมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ เป็นต้น