รู้หรือไม่? เราจะก้าวเข้าสู่วัยทอง เมื่ออายุประมาณเท่าไร


เชื่อไหมว่าคนเราอาจต้องใช้เวลาถึง 1 ใน 3 ของเวลาทั้งชีวิตในช่วงวัยทอง นั่นเพราะอายุเฉลี่ยของการเข้าสู่วัยทองคือช่วง 50-54 ปี ยิ่งปัจจุบันคนเรามีอายุขัยที่ยืนยาวขึ้นแล้วด้วย อาการทั้งทางร่างกายและจิตใจที่เปลี่ยนแปลงมากกว่าปกติหรือมีระยะเวลานานกว่า จึงทำให้การผ่านวัยทอง มักจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

พญ.อรกมล อินกองงาม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย มีวิธีที่เราจะอยู่กับวัยทองให้มีความสุข มาบอกกัน

ทราบได้อย่างไรว่าเข้าเริ่มสู่วัยทอง?

คือ ต้องรู้ก่อนว่าปกติแล้วในผู้หญิง จะเข้าสู่วัยทองเมื่ออายุประมาณ 45 ปี โดยร่างกายจะเริ่มสร้างฮอร์โมนเพศลดลง ส่งผลให้ประจำเดือนเริ่มมาไม่สม่ำเสมอ มีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อแตก นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ความรู้สึกทางเพศลดลง เมื่อประจำเดือนหยุดไปครบ 1 ปี ก็จะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนอย่างเต็มตัว ส่วนในผู้ชายอาการส่วนใหญ่จะค่อยเป็นค่อยไป มักจะเริ่มมีอาการในช่วงอายุย่างเข้า 50 ปี โดยอาการที่พบบ่อยที่สุดคือ ความรู้สึกทางเพศลดลง และอาจรู้สึกว่าพละกำลังและความอดทนในการทำงานและกิจวัตรประจำวันลดลง หงุดหงิดง่าย เบื่อง่าย นอนไม่หลับ รู้สึกอ่อนล้า ออกกำลังกายได้ไม่ดีเท่าที่เคยเป็น กล้ามเนื้อหายกลายเป็นไขมันมากขึ้น

แล้วเราเตรียมตัวเข้าสู่วัยทองอย่างสุขภาพดีได้ยังไง?

เริ่มจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันเพราะกิจกรรมบางอย่างอาจให้ผลไม่เหมือนเดิม เมื่อร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น การอดนอน การออกกำลังกายอย่างหนักเป็นเวลานาน ควรเข้านอนให้เป็นเวลาสม่ำเสมอไม่เกิน 22.00 น. เพื่อให้หลับสนิทในช่วงที่มีการหลั่งฮอร์โมนมาซ่อมแซมร่างกาย และควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30-50 นาที ต่อครั้ง 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์

นอกจากนี้ควรผ่อนคลายความเครียด เพราะความเครียดเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้อาการวัยทองแย่ลง เช่น ทำงานอดิเรก นั่งสมาธิ หรือ ผ่อนคลายจิตใจด้วยรูปแบบต่างๆ นวดบำบัด ดนตรีบำบัด หรือการใช้น้ำมันหอมระเหยที่สำคัญควรกินอาหารที่มีประโยชน์และหมั่นตรวจเช็คร่างกายสม่ำเสมอ”

โดยทั่วไปแล้วอาการของวัยทองจะดีขึ้นได้เองในระยะเวลา 3 – 5 ปี แต่ถ้าอาการเป็นมากหรือยาวนานก็อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิต สภาพร่างกายและจิตใจ รวมไปถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หากลองปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต และโภชนาการแล้วไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อพิจารณาการส่งตรวจเพิ่มเติมและขอคำแนะนำเกี่ยวกับทางเลือกต่างๆ ในการรักษาอาการที่เป็นอยู่

ข้อมูล: โรงพยาบาลพญาไท