รู้จัก “ฉลากเขียว” เครื่องหมายช่วยสะท้อนความยั่งยืนของแบรนด์ต่อสิ่งแวดล้อม
ฉลากเขียวของประเทศไทย ริเริ่มขึ้นโดยองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development, TBCSD)
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นักการเมืองพรรคเดโมแครทพยายามผลักดันนโยบายสวัสดิการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเรียนมหาวิทยาลัยฟรี หรือนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่มีสมาชิกพรรคเดโมแครทท่านหนึ่ง ที่ใจกล้าพอที่จะเสนอนโยบายแจกเงินฟรีๆ ให้ประชาชนชาวอเมริกัน
นายแอนดริว หยาง (Andrew Yang) ไม่ใช่นักการเมืองมืออาชีพในกรุงวอชิงตัน แต่เขาเป็นนักกฎหมาย เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และเป็นนักธุรกิจในย่านแมนฮาตตัน กรุงนิวยอร์ก ซึ่งเขาจะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปี 2020
ในช่วงหนึ่งของการหาเสียงเมื่อปีที่แล้ว นักธุรกิจชาวอเมริกัน เชื้อสายไต้หวัน วัย 44 ปี เสนอว่า หากเขาได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาจะผลักดันนโยบายแจกเงินเดือนให้กับผู้ใหญ่ทุกคนในสหรัฐฯ คนละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน (32,000 บาท/เดือน) โดยเขาตั้งชื่อนโยบายนี้ว่า “เงินปันผลแห่งเสรีภาพ” หรือ “Freedom Dividend”
แอนดริวมองว่า การที่ทรัมป์ได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีนั้น มาจากความไม่พอใจของชาวอเมริกันหลายล้านคนที่ตกงาน และปัญหาการตกงานจะยิ่งเลวร้ายกว่าเดิม เพราะกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีในเขตซิลิคอนวอลเลย์ (Silicon Valley) กำลังแข่งขันกันพัฒนาและผลิต หุ่นยนต์ เครื่องจักรกล และ AI (Artificial Intelligence) สำหรับใช้ในการดำเนินธุรกิจและการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งนั่นหมายความว่า จะมีแรงงานชาวอเมริกันอีกหลายล้านคน ที่จะต้องตกงาน ด้วยธุรกิจและอุตสาหกรรมทั้งหลาย ที่จะปรับเปลี่ยนไปเป็นระบบเครื่องจักรอัตโนมัติ
“Freedom Dividend” คือนโยบายที่แอนดริวจะผลักดันให้เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานของประชาชนชาวอเมริกัน เพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน แต่ก็มีคำถามที่ตามมาว่า แล้วจะเอางบประมาณจากไหนมาจ่ายให้กับชาวอเมริกันหลายร้อยล้านคน ซึ่งนักธุรกิจรายนี้มีความคิดที่จะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 10% แต่ในตอนนี้สหรัฐฯ เป็น 1 ในเพียงไม่กี่ประเทศที่ไม่มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
ถ้าหากมองถึงความเป็นไปได้ ที่นายแอนดริวจะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯนั้น ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่ความเป็นไปได้ที่เสียงส่วนใหญ่ในสภาคองเกรซจะโหวตผ่านร่างนโยบายการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% ของเขานั้น เป็นไปได้ยาก เพราะบริษัทนายทุนและผู้ซื้อสินค้าชาวอเมริกัน อาจไม่พอใจกับการเก็บภาษีเพิ่มในส่วนนี้ ถึงแม้ภาษีส่วนนี้จะเป็นงบประมาณในการจ่ายเงินสวัสดิการ “Freedom Dividend” ให้กับทุกคนก็ตาม
แต่นายแอนดริวก็ไม่ได้มองงบประมาณที่ภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างเดียว เขายังมองไปที่บริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Amazon, Google, Facebook, และอีกหลายบริษัท เพราะบริษัทเหล่านี้หลบเลี่ยงภาษีด้วยเทคนิคการทำบัญชีหลายรูปแบบ นอกจากนั้นแล้ว บริษัทเหล่านี้ยังมักจะนำเงินกำไรหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปซุกซ่อนไว้ในต่างประเทศที่ไม่มีการเก็บภาษี ซึ่งตรงนี้อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่นายแอนดริวมองว่า หากบริษัทเหล่านี้เต็มใจเสียภาษีอย่างถูกต้อง ก็อาจจะมีงบประมาณที่เพียงพอสำหรับนโยบายสวัสดิการ “Freedom Dividend”
ที่มา :
rollingstone.com