กรมควบคุมมลพิษ เชิญชวนลอยกระทงรักษ์สิ่งแวดล้อม


ใส่ใจสายน้ำและสิ่งแวดล้อม!! กรมควบคุมมลพิษ เชิญชวนลอยกระทงรักษ์สิ่งแวดล้อม ใช้หลัก 3R ใช้น้อย ใช้ซ้ำ นำมาใช้ใหม่ เป็นแนวทาง เผยแนวโน้มกระทงจากวัสดุธรรมชาติเพิ่มขึ้น ถึง 94.7 %

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า จากข้อมูล กทม. ในการจัดเก็บกระทงในเขตกรุงเทพมหานคร ปี 2551 – 2561 พบว่ามีปริมาณ 8-9 แสนชิ้นต่อปี (ยกเว้นปี 2554 และ ปี 2559) และพบว่าการใช้กระทงที่ทำจากธรรมชาติมีแนวโน้มสูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 87- 94.7

กระทงโฟมมีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 13 ลดลงเหลือร้อยละ 5.3 ซึ่งในปี 2561 ที่ผ่านมา มีปริมาณทั้งสิ้น 841,327 ใบ แบ่งเป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ 796,444 ใบ และกระทงโฟม 44,883 ใบ คิดเป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติร้อยละ 94.7 และกระทงโฟมร้อยละ 5.3 จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ลอยกระทงจากวัสดุธรรมชาติแทนการใช้กระทงโฟม ซึ่งชี้ให้เห็นว่าประชาชนและผู้ค้ากระทง ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

นายประลอง กล่าวว่า แนวทางการลอยกระทงรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยใช้หลักการ 3R ได้แก่

“ใช้น้อย” (Reduce) คือการลดขนาดของกระทงที่ใช้ ลดจำนวนชิ้น ใช้วัสดุธรรมชาติในการตกแต่งกระทง เพื่อเป็นการประหยัดทรัพยากรและช่วยลดปริมาณขยะ,

“ใช้ซ้ำ” (Reuse) คือการนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ซ้ำ เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอย่างคุ้ม

“แปรรูปใช้ใหม่” (Recycle) คือการนำกระทงที่เก็บรวบรวมมาใช้ประโยชน์ โดยกระทงจากวัสดุธรรมชาติจะนำมาใช้ในการหมักปุ๋ยต่อไป

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวอีกว่า เพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย ทส. โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้ร่วมมือกับห้างสรรพสินค้า 46 แห่ง ดำเนินโครงการ “การงดแจกถุงพลาสติก” ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 และเพื่อเป็นการดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อม ลดขยะพลาสติกทั้งบนบกและทะเล

ทั้งนี้ ในเทศกาลลอยกระทง ปี 2562 คพ.ขอเชิญชวนคนไทยร่วมลอยกระทง ใส่ใจสายน้ำและสิ่งแวดล้อม โดยใช้กระทงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และร่วมลดปริมาณกระทง ลดการก่อให้เกิดขยะ ด้วยการลอยแบบ 1 คู่รัก 1 กระทง หรือ 1 ครอบครัว 1 กระทง หรือ 1 แก๊งค์หรือกลุ่ม 1 กระทง หรือการลอยกระทงออนไลน์จะช่วยให้การลอยกระทงสร้างมลพิษน้อยที่สุด และขอความร่วมมือประชาชนพกถุงผ้าใส่สิ่งของแทนถุงพลาสติก แม่ค้างดแจกถุงพลาสติกหูหิ้วและพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นด้วย