รู้จัก “ฉลากเขียว” เครื่องหมายช่วยสะท้อนความยั่งยืนของแบรนด์ต่อสิ่งแวดล้อม
ฉลากเขียวของประเทศไทย ริเริ่มขึ้นโดยองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development, TBCSD)
เปิดโครงการ Medical and wellness Program ดึงต่างชาติรักษาตัวในไทย ล่อใจจัดแพ็กเกจพิเศษ “ป่วย+ทัวร์-ท่องเที่ยว” หลังรักษาเสร็จ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ
วันนี้ (3 ก.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงมาตรการรองรับคนต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามารักษาตัวในไทย หรือกลุ่ม Medical and Wellness Program ว่า แผนในการดำเนินการเกี่ยวกับ Medical and Wellness Program คือ เริ่มวันที่ 1 ก.ค. 2563
ซึ่งช่วงนี้จะให้ผู้ป่วยที่ไม่ใช่ผู้ป่วยโควิด-19 เข้ามารับการรักษา หรือเข้ามาเสริมความงามต่างๆ โดยหลักการจะต้องมีใบนัดแพทย์ ใบขออนุญาตเข้ามา (Certificate of Entry :COE) จากสถานทูต ต้องผ่านการตรวจว่าปลอดเชื้อโควิดก่อนเดินทางเข้ามา และเมื่อเดินทางมาถึงจะต้องรับการตรวจเพิ่มเติม โดยจะต้องเข้ารับการรักษาใน รพ.คู่สัญญา
โดยอาจเป็น รพ.รัฐหรือ รพ.เอกชนก็ได้ โดยไม่ว่าจะรักษาและพักฟื้นภายในเวลากี่วัน แต่จะต้องอยู่กักตัวใน รพ.หรือ Hospital Quarantine จนครบ 14 วัน เช่น เสริมจมูกเสร็จ 5 วัน แต่ยังต้องอยู่ รพ.ไปจนครบ 14 วัน ถึงตรวจเชื้ออีกครั้งและให้เดินทางกลับประเทศ ถ้าป่วยก็จะเห็นอาการตั้งแต่ใน รพ.
นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จะยังมีลักษณะของ รพ.กักตัวทางเลือก Alternative Hospital Quarantine ด้วย สำหรับกรณีการเข้ามารับการรักษาโดยมีผู้ติดตาม ตรงนี้จะเน้น รพ.เอกชน เช่น กรณีคู่สามีภรรยาจะเดินทางเข้ามาทำกิฟต์ โดยอาจเข้ามาปรึกษาคลินิกเฉพาะทางด้านนี้ และมี รพ.ให้นอนอยู่ยาว 14 วัน ทั้งนี้ ภาคเอกชนได้สมัครเข้ามาเพื่อเป็นรายชื่อทั้ง รพ.และคลินิกแล้วรวม 62 แห่ง
อย่างไรก็ตาม การเดินทางเข้ามารับการรักษาจะเป็นลักษณะของการโดยสารทางเครื่องบินเท่านั้น เพื่อมาลงยังส่วนกลางและไปรักษาตาม รพ.ทันที จะไม่มีการเปิดด่านพรมแดนเพื่อนำรถพยาบาลไปจ่อรับวิ่งเข้าออกรอบเขตชายแดน เพราะระบบทางบกยังต้องพัฒนาอีกสักระยะทั้งฝั่งเขาและฝั่งเรา
“ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้รายงานว่า มีคนลงทะเบียนที่จะเดินทางเข้ามารับการรักษาแล้วถึง 17 ประเทศ โดยใน ก.ค.มีลงทะเบียนแล้วกว่า 1,700 คน เช่น พม่าลงทะเบียน 478 คน กัมพูชา 477 คน จีน 69 คน กาตาร์ 95 คน ซาอุดิอาระเบีย 14 คน โอมาน 187 คน คูเวต 137 คน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 223 คน เป็นต้น” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า หากตรงนี้ทำได้ดี แผนต่อไปที่จะเริ่มวันที่ 1 ส.ค. คือ จะเป็นลักษณะของเดินทางเข้ามารักษา และเมื่อรักษาเสร็จกักตัวครบ 14 วันก็สามารถเดินทางหรือท่องเที่ยวภายในประเทศไทยได้ เพราะถือว่ามีความปลอดภัย ไม่มีโรค เดินทางได้ทั่วทุกที่ ก็อาจจะมีการจัดทัวร์ให้กลุ่มนี้ เพื่อดึงคนที่มีศักยภาพมากระตุ้นทางเศรษฐกิจ ผ่านทาง Wellness หรือการแพทย์
หรืออาจจะมีการเปิดให้มากักตัวอยู่ในวิลลา เช่น กรณีมากันที่ 5-10 คน ก็ไปอยู่ในสถานที่ที่จัดให้ในวิลลาที่มีทุกอย่าง และจำกัดบริเวณ ส่วนกรณีที่กังวลว่า มาเมืองไทยกันมากๆ หากระบาดรอบ 2 จะทำอย่างไร เรื่องนี้ได้ให้ฝ่ายสาธารณสุขดูแลทรัพยากร เตียง บุคลากร เผื่อไว้ด้วย ถ้ามีการระบาด ต้องไม่เกิดแย่งใช้ทรัพยากรซึ่งกันและกัน
ส่วนระยะถัดไป คือ วันที่ 1 ก.ย. อาจเป็นลักษณะของทราเวล บับเบิล ที่พูดกัน อาจใช้กรณีพิเศษ เป็นกลุ่มเฉพาะที่เราดูแลได้อาจจะเริ่มเวลานั้น ถ้าผ่านระยะที่ 1 และระยะ 2 ทราเวล บับเบิล ก็เกิดตามมา อย่างไรก็ตาม ที่เคยประกาศไป 11 กลุ่มที่เดินทางเข้าไปนั้น จะเน้นคนมีธุรกิจธุรกรรมหรือป่วยมารักษา ไม่ได้ใช้ว่ามาท่องเที่ยว ซึ่งคำว่า “ทราเวล” ไม่อยากให้แปลว่ามาท่องเที่ยว เพราะจะเข้าใจผิด แต่หมายถึงการเดินทางเข้ามาไทยมากกว่า ยังไม่ใช่การท่องเที่ยวแบบเดิม
เมื่อถามว่าชาวต่างชาติที่เข้ามารักษาจะพาญาติหรือผู้ติดตามได้กี่คน มีกระบวนการดูแลอย่างไร นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ติดตามได้ไม่เกิน 3 คน โดยต้องมีการลงทะเบียน มีการแจ้งและใบนัดหมายแพทย์ในไทยเรียบร้อย ดูแลทางกระทรวงการต่างประเทศ สถานทูต มี COE อนุญาตให้เข้ามา เมื่อเข้ามาจะอยู่ใน รพ. จะผ่าตัด เสริมสวยหรือใช้เวลาสั้นๆ ก็ต้องกักตัว 14 วัน
ส่วนผู้ป่วยที่รักษาไม่ครบ 14 วัน ต้องกักตัวต่อที่ไทยหรือกลับประเทศต้นทางได้เลยหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ถ้าไม่ครบ 14 วันยังไม่ได้ ไม่อนุญาตให้ออกไป เพราะหากอยู่ 7 วันแล้วขอออกไปเลย แล้วไปป่วยวันที่ 14 จะทำอย่างไร เราไม่รู้ ท่านอยู่ระหว่างตรงกลางอาจจะเป็นคนที่ทำให้เกิดการติดเชื้อตรงนั้นก็ได้ ต้องอยู่ให้ครบมั่นใจ ถ้าติดเชื้อก็จะแสดงอาการใน 14 วันนี้ก็รักษา ตรงนี้ถูกคิดมาแล้วว่าดีที่สุด และคุ้มค่ากับการที่บินเข้ามาแล้วมาอยู่ในเมืองไทย ใช้เตียงของ รพ. กระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหลายก็จะคุ้มค่า เราจะไม่ให้กลับก่อน
“ทั้งหมดนี้ เป็นกำหนดการคร่าวๆ ถ้าผ่านระยะที่ 1 คือ Medical and Wellness Program ไปได้ ระยะที่ 2 ก็จะป่วย +ทัวร์ หรือเดินทางท่องเที่ยว ส่วนทราเวลบับเบิลถึงจะเกิดขึ้นตามมา” นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าว