สสว.เร่งออก 3 มาตรการหลักช่วยเหลือ SMEs


นายปฏิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่าจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้น สสว. ได้ประชุมหารือรวมกับกลุ่มสมาคมผู้ประกอบการ SMEs และทำการสำรวจผู้ประกอบการในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา พบว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในด้านยอดขายหรือรายได้จากการขาย รวมถึงสภาพคล่องทางการเงินในระดับสูง และส่วนใหญ่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือในด้านของเงินทุนหมุนเวียนอัตราดอกเบี้ยต่ำ และการจัดหาตลาดหรือช่องทางจำหน่ายสินค้ามากที่สุด

 

ด้วยเหตุนี้ สสว. จึงได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สมาคมธุรกิจต่างๆ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย และสถาบันการเงิน ในการร่วมกันหาแนวทางเสริมศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันประกอบด้วย 3 มาตรการหลัก ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือด้านการเงิน มาตรการช่วยเหลือด้านการตลาด และมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการ

 

“มาตรการนี้จะเป็นกรอบในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤติต่างๆ ซึ่งขึ้นกับว่ามาตรการใดจะสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นั้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขึ้นกับความต้องการของ SMEs เป็นหลัก” ผอ.สสว. กล่าว

 

สำหรับมาตรการช่วยเหลือด้านการเงิน สสว. ได้รับความร่วมมือจาก 5 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารกรุงเทพฯ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม  (บสย.) ฯลฯ ที่ร่วมกันระดมความเห็น

 

ในการออกมาตรการ เพื่อช่วยลดภาระทางการเงินกับ SMEs โดยมีมาตรการเร่งด่วน ประกอบด้วย 1. การพักชำระเงินต้น เป็นเวลา 6-12 เดือน   2. การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ระยะเวลา 3-12 เดือน และ 3. การให้วงเงินสินเชื่อเพิ่มในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ทั้งนี้ SMEs ที่เข้ารับมาตรการดังกล่าวจะไม่ถือเป็นลูกหนี้ NPL

 

ในส่วนมาตรการช่วยเหลือด้านการตลาดได้กำหนดมาตรการเร่งด่วน ด้วยการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าหรือบริการแก่ SMEs ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัด Market Place ร้านค้าออนไลน์ รวมทั้งการเชื่อมโยง SMEs กับบริษัทชอปปิ้งออนไลน์ เช่น Dealfish, Lazada เพื่อสนับสนุนสิทธิประโยชน์หรือ package พิเศษ การส่งเสริมช่องทางการตลาดในประเทศและต่างประเทศ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งผู้ประกอบการด้านค้าปลีก ในการจัดพื้นที่จำหน่ายสินค้าให้ผู้ประกอบการ และจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) เป็นต้น

 

ส่วนมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ SMEs ทั้งในด้านการบริหารต้นทุนและสินค้าคงคลัง การบริหารด้านการตลาดและลูกหนี้การค้า การวิเคราะห์สถานะธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ และการจัดอบรมให้ความรู้ ฯลฯ

 

ที่สำคัญ สสว. จะจัดตั้งคลินิค SMEs เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรับลงทะเบียนผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ ให้คำปรึกษาปัญหาในด้านต่างๆ ทั้งด้านการเงิน การตลาด การปรับปรุงธุรกิจ การผลิต       การบริหารจัดการ รวมถึงพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่ต้องการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เพื่อสร้างความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ขณะเดียวกันจะรวบรวมข้อมูล SMEs ที่ได้รับผลกระทบ นำเสนอรัฐบาลใหม่เพื่อขอความเห็นชอบเกี่ยวกับมาตรการให้ความช่วยเหลืออื่นๆ เพิ่มเติมต่อไป