กสิกรไทยร่วมจับมือกับ 6 หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเร่งผลักดันธุรกิจแฟรนไชส์ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจที่ชะลอตัว หวังให้ผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ มีศักยภาพก้าวสู่ตลาด AEC พร้อมจัดวงเงินแบบมีหลักประกันและไม่มีหลักประกันให้เลือกหลายรูปแบบ รวมไปถึงปล่อยสินเชื่อในโครงการกว่า1,000ล้านบาท
นายพัชร สมะลากา รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์นั้น เป็นการช่วยส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ไทยให้ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ทางธนาคารกสิกรไทยมีลูกค้าธุรกิจแฟรนไชส์รวม 477 ราย ยอดสินเชื่อ 1,296 ล้านบาท โดยในปี 2556 มีการตั้งวงเงินใหม่สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ จำนวน 510 ล้านบาท สูงขึ้นจากปีก่อนถึง 20% เพราะธุรกิจแฟรนไชส์ในปัจจุบันเน้นการขยายตัวในต่างจังหวัดมากขึ้น นอกจากนี้สำหรับนักศึกษาจบใหม่อายุ 20-30 ปี เริ่มสนใจอยากเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัวมากขึ้นกว่า 50% ดังนั้นการซื้อลิขสิทธิ์จากเจ้าของแฟรนไชส์จึงถูกเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการใหม่มากยิ่งขึ้น
การสนับสนุนบริการสินเชื่อ K-SME Franchise credit มีทั้งแบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน,แบบหลักทรัพย์ค้ำประกัน 50%,แบบลดหย่อนการผ่อนชำระ 18 เดือนแรก และแบบใช้ บสย.เป็นหลักประกัน โดยให้วงเงินสินเชื่อถึง 80% ของมูลค่าการลงทุน ซึ่งธนาคารเตรียมวงเงินสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มนี้กว่า 1,000 ล้านบาท อีกทั้งปัจจุบันมีผู้ลงทุนซื้อธุรกิจแฟรนไชส์หรือแฟรนไชส์ซีประมาณ 80,000 ราย อีกทั้งพบว่าธุรกิจ แฟรนไชส์ที่มีความน่าสนใจลงทุนมากที่สุดกว่า 70% คือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนสาขาที่มาแรงได้แก่ กลุ่มการศึกษา เนื่องจากหลายคนต้องการเพิ่มศักยภาพให้แก่ตนเองและลูกหลาน รวมไปถึงเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
นายพัชร กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารกสิกรไทยร่วมจัดทำโครงการเพื่อสนับสนุนธุรกิจแฟรนไชส์พร้อมด้วย 6 หน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, บริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์,หอการค้าไทย, สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ และ บริษัท บิสิเนสโค้ชแอนด์คอนซัลติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นการสนับสนุนทั้งเจ้าของสิทธิ์ หรือแฟรนไชส์ซอร์ (Franchisor) และผู้ซื้อสิทธิ์ หรือแฟรนไชส์ซี (Franchisee) ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีศักยภาพด้วยการให้ความรู้ คำปรึกษา รวมไปถึงการสนับสนุนทางด้านการเงิน และสิทธิพิเศษโปรโมชั่นต่างๆ แก่ผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์
6 หน่วยงานพันธมิตรแสดงจุดยืนผลักดันธุรกิจแฟรนไชส์ไทยอย่างเข้มแข็ง
ด้านคุณพีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ ประธานที่ปรึกษา( Principal Consultant) บริษัท บิสิเนส โค้ช แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด กล่าวว่าสภาวะการเมืองเศรษฐกิจปัจจุบันอาจมีผลกระทบทางด้านการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์บางส่วนเท่านั้น ส่วนสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนทำธุรกิจนั้น ควรศึกษาหาความรู้ก่อนการลงทุน เพราะการลงทุนนั้นถือว่าเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่ไม่ควรถูกมองข้าม ฉะนั้นส่วนมาก คนที่ลงทุนทำธุรกิจ แฟรนไชส์มักจะอยู่ในช่วงปริญญาตรีขึ้นไป โดยมีเงินทุนเพียง 300,000บาท ก็ต้องการลงทุนแล้ว ดังนั้นอย่างแรกที่จำเป็นต้องทำคือการหาเงินทุนเพิ่มโดยการกู้เงินกับธนาคาร ดั้งนั้นต้องมีเงินล้านขึ้นไป เพื่อที่จะได้ธุรกิจมา ส่วนคนที่มีธุรกิจส่วนตัวก็ได้เปรียบไปส่วนหนึ่ง เพียงแค่ขยายธุรกิจไปสู่ตลาดก็ได้เช่นกัน
คุณปฏิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการที่ได้รับเงินสนับสนุนด้านการทำธุรกิจแฟรนไซส์ และมีการขยายตัวถึง 20% ต่อปี ซึ่งนับว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงธุรกิจแฟรนไซส์ ที่ปัจจุบันนั้นเริ่มมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น
คุณสวาสดิ์ มิตรอารี สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ กล่าวถึงบทบาทสำคัญในการทำแฟรนไชส์ว่า สมาคมเรารวมตัวกันในนามผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งขณะนี้มีแฟรนไชส์ซอร์ กว่า 225 ราย ซึ่งทางสมาคมพร้อมร่วมผลักดันให้ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยก้าวสู่ตลาด AEC ดังนั้นโครงการนี้จึงเป็นเปิดโอกาสให้แก่ผู้ที่ต้องการมีธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งมุ่งเน้นและผลักดันธุรกิจแฟรนไชส์ไทยก้าวสู่ตลาด AEC ในอนาคต อีกทั้งสามารถให้คำปรึกษาทางด้านปัญหาการทำธุรกิจแฟรนไชส์ได้อีกด้วย