อาเซียนส่อเค้าเปิดตัวเออีซีไม่ทันปี 58


ซีไอเอ็มบีหวั่นอาเซียนรวมตัวเป็นเออีซีไม่ทันปี 2558 หลังรอบ 10 ปี ค้าขายกันเองน้อยมาก

 

นายเยิร์น ดอช นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยแห่งอาเซียน ซีไอเอ็มบี (CIMB ASEAN Research Institute : CARI) เปิดเผยว่า มีแนวโน้มที่ความร่วมมือของกลุ่มประเทศอาเซียนในการรวมตัวเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ไม่น่าจะประสบความสำเร็จทันปี 2558จากปัญหาการค้าระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนที่ไม่กระเตื้องในรอบ 10  ปี  ประกอบกับแต่ละประเทศยังมีช่องว่าง
ในการพัฒนาและช่องว่างทางการเมือง

 

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2541 สัดส่วนการค้าภายในระหว่างอาเซียน (Intra-ASEAN Trade) ต่อสัดส่วนการค้าทั้งอาเซียนแทบไม่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้ปี 2541-2546 จะมีสัดส่วนเพิ่มจาก21% เป็น 25.1% แต่หลังจากนั้นก็เคลื่อนไหวที่ 24-25% เท่านั้น แม้ว่าแผนงานการจัดตั้งเออีซีหรือเออีซี บลูปริน จะให้ทยอยลดภาษีสินค้าตั้งแต่ปี 2550

 

อย่างไรก็ตาม ในทางตรงข้ามสัดส่วนการค้ากับประเทศที่มีการลงนามในอาเซียน บวก 1 โดยเฉพาะจีน กลับเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นักวิเคราะห์หลายคนจึงเชื่อว่าการค้าภายในอาเซียน จะไม่เติบโตมากกว่านี้ เพราะอาเซียนเป็นตลาดเล็ก แต่ละประเทศจึงมองการเติบโตกับประเทศอื่นที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแทน

 

นอกจากนี้ ปัญหาใหญ่ของการรวมตัวเป็นเออีซี อีกประการ คือ รัฐบาลของหลายประเทศยังขาดมุมมองเชิงลึกของการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ และไม่ได้ทำให้ภาคเอกชนเกิดแนวคิดระดับภูมิภาคอาเซียน แต่ละประเทศจึงมุ่งแข่งขันกันเองมากกว่ารวมตัว รวมทั้งการปกครองที่แตกต่างกันทำให้ความร่วมมือไม่มีข้อผูกมัดที่ชัดเจน อาเซียนจึงต้องปรับแนวคิดแต่ละประเทศให้มีจุดมุ่งหมายร่วมกันลดช่องว่างที่เกิดขึ้นเพื่อให้เออีซีเกิดผลสำเร็จ

 

(ที่มา : สมาคมอาเซียน-ประเทศไทย)

 

 

แรงงานชาวลาว เตรียมฝึกทักษะ หนุนธุรกิจไทยรับ “อาเซียน”

 

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สภาอุตสาหกรรมลาวและภาคี เร่งพัฒนาศักยภาพแรงงานลาว หวังส่งเสริมธุรกิจชาวไทย คาดว่าปีนี้จะสามารถฝึกอบรมให้แรงงานลาวได้กว่า 1,000 คน

 

คุณธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวถึงการหารือกับสภาอุตสาหกรรมสภาหอการค้า และผู้แทนกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่เมืองหลวงน้ำทา สปป.ลาว ว่า การเดินทางมาในครั้งนี้เหตุผลหลักคือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศพร้อมทั้งมารับทราบข้อมูลที่ สปป.ลาว ต้องการให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานช่วยเหลือ

 

โดยสภาอุตสาหกรรมของ สปป.ลาว แจ้งว่าต้องการให้ไทยช่วยในเรื่องของครูฝึกผู้ประกอบการแรงงานด้านบริการและโรงแรม เพราะต่อไปเมืองหลวงน้ำทาและเมืองอื่นๆ ในสปป.ลาว จะเป็นเมืองท่องเที่ยวส่วนกระทรวงแรงงานและสวัสดิการของ สปป.ลาว
ต้องการให้ไทยช่วยเรื่องกรีดยาง พร้อมสนับสนุนการพัฒนาครูฝึก เพื่อนำไปขยายผลให้กับแรงงานใน สปป.ลาว ต่อไป นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ไทยช่วยเรื่องอุตสาหกรรมบริการ ฝึกภาษาอังกฤษและอาเซียน รวมถึงการสร้างมูลค่าสินค้าของ สปป.ลาว ให้เป็นเหมือนสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป) ของไทย

 

ทั้งนี้ ยืนยันว่าสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเชียงแสน จังหวัดเชียงราย พร้อมให้การสนับสนุน ซึ่งได้มอบให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเชียงแสน จัดความสำคัญในการฝึกอบรม โดยเฉพาะครูฝึกกรีดยาง ที่คาดว่าจะเริ่มฝึกได้ในปลายเดือนมิถุนายนนี้ และต่อไปจะฝึกภาคบริการ

 

ขณะเดียวกันได้ย้ำกับตัวแทนของ สปป.ลาว ว่าคนที่จะมาฝึกต้องมีความต้องการที่จะฝึกอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการจัดสรรงบประมาณส่งเสริมพร้อมตั้งเป้าปีนี้จะสามารถฝึกอบรมครูฝึกได้ จำนวน400 คน และฝึกแรงงานอีก 600 คน อย่างไรก็ตาม การที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้ความช่วยเหลือการฝึกอบรมเรื่องอาชีพ ให้กับแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยได้แรงงานที่มีศักยภาพในการสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจไทย เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)