สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดประสบการณ์ใหม่ให้ผู้ประกอบการไทย


สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดประสบการณ์ใหม่ให้ผู้ประกอบการไทย จัดงาน  NFI OPPORTUNITY DAY AND FOOD LEADER PARTY 2014 เพื่อแสดงศักยภาพงานให้บริการของสถาบันอาหารตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหาร

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง โอกาสของอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2558 “ว่าการพัฒนาของอุตสาหกรรมอาหารไทยมีความสำคัญมาโดยตลอด เพราะพื้นฐานของประเทศไทยคือประเทศแห่งเกษตรกรรม ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ระบุว่าประเทศไทยมีผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมอาหารประมาณ 110,000 ราย คิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของจำนวนสถานประกอบการทั้งหมด ในปี 2556 ไทยส่งออกอาหารมูลค่า 910,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าในภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด โดยสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกมากที่สุด ยังคงเป็นข้าว คิดเป็นร้อยละ 14.8 รองลงมาคือน้ำตาล คิดเป็นร้อยละ 9.4 อันดับที่ 3 กลุ่มทูน่าแปรรูป ร้อยละ 8.8 และไก้แปรรูป คิดเป็นร้อยละ 7.8 กุ้งแช่แข็งและแปรรูปร้อยละ 7.6 ของมูลค่าส่งออกอาหารทั้งหมด ปัจจุบันไทยยังคงพึ่งพิงการส่งออกสินค้าเกษตรและวัตถุดิบอาหาร โดยมีสัดส่วนส่งออกเพียง 45.3% แต่แนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วงปี 2546 ถึง ปี 2550  สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญยังคงเป็นตลาดหลักหรือตลาดเดิม โดยมีตลาดอาเซียนเพิ่มความสำคัญมากขึ้น มีสัดส่วนเป็นร้อยละ 21.1 ของมูลค่าส่งออก”

                นายวิฑูรย์ กล่าวต่ออีกว่า “ ในปี 2558 ธนาคารโลก และ IMF ต่างมองว่าเศรษฐกิจของโลกจะมีทิศทางการเติบโตที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีนี้ โดยคาดว่าอัตราเติบโตของ GOD จะอยู่ที่ร้อยละ 4 เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่คาดว่าน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.4”

ด้านนายเพ๊รช ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวถึง เทรนด์ใหม่ของอุตสาหกรรมอาหารไทยในอาเซียน ว่า อาเซียนนับเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก เนื่องจากข้อได้เปรียบพื้นฐานในด้านทรัพยากรธรรมชาติที่นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหาร และมีแรงงานจำนวนมากเพียงพอ แต่ยังเป็นตลาดการบริโภคตลาดใหม่ที่มีความน่าสนใจ ในปี 2556 อาเซียนมีสัดส่วนมูลค่าการค้าอาหารในตลาดโลกอยู่ที่ร้อยละ 6.8 และคาดว่าในปี 2559 จะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.3 ของมูลค่าตลาดประมาณ 827 พันล้านสหรัฐ ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของตลาดโลกซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.7 และพบว่า อาเซียนมีบทบาทในการส่งออกอาหารสูงถึวประมาณร้อยละ 9.6 ซึ่งเป็นลำดับ 3 รองจาก สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา

โดยสินค้าหลัก ๆ ที่ไทยส่งออกไปยังอาเซียน สามารถจำแนกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้ อันดับแรกคือกลุ่มสินค้าเกษตรอาหาร มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 19 อัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7 ตลอด 10 ปีหลัง สำหรับกลุ่มสินค้าแปรรูปขั้นต้น มีสัดส่วนการส่งออก ร้อยละ 34 อัตราการขยายตัวเฉลี่ย ร้อยละ 12 ตลอดช่วง 10 ปีหลัง และกลุ่มสินค้าพร้อมรับประทาน เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงถึงร้อยละ 47 และมีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยร้อยละ 14 ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา