ผู้ประกอบการไทยยังต้องการทรัพยากรในการขยายตัว


ปัจจุบันโลกการทำธุรกิจเปิดกว้างมากขึ้น ทุกประเทศเริ่มตื่นตัวในการทำธุรกิจ และประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งในโลกธุรกิจที่มีผู้ประกอบการ และผู้ที่อยากเริ่มต้นทำธุรกิจอีกมากมาย ธุรกิจขนาดเล็กในประเทศไทยมีค่อนข้างมาก แต่กลับไม่มีการขยายตัวเป็นขนาดกลาง ด้วยเหตุนี้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ คณะการสร้างของธุรกิจและการบริหารกิจการมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (BUSEM) จึงได้ทำการศึกษาระดับความเป็นผู้ประกอบการในประเทศไทย

โดยจากการศึกษาและเปรียบเทียบข้อมูลกิจกรรมความเป็นผู้ประกอบการไทย ปี 2556 กับประเทศสำคัญอื่น ๆ พบว่าประเทศไทยมีสัดส่วนของผู้มีส่วนร่วมในกิจกรรมความเป็นผู้ประกอบการสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 28.02 แต่อย่างไรก็ตามมีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่มีสัดส่วนผู้ที่กำลังจัดตั้งธุรกิจ  และสัดส่วนผู้ประกอบการที่มีธุรกิจอายุน้อยกว่า 3.5 ปี ทั้งนี้เมื่อเทียบในประเทศอื่น ๆ ธุรกิจที่มีอายุมากกว่า 3.5 ปี ประเทศไทยมีอยู่ที่อันดับที่ 1 ตามด้วยเวียดนาม และจีน ส่วนธุรกิจที่มีอายุน้อยกว่า 3.5 ปี อินโดนีเซียเป็นอันดับที่ 1 คือ ฟิลิปปินส์ ส่วนไทยเป็นอันดับ 3 และธุรกิจที่กำลังจัดตั้งใหม่ ฟิลิปปินส์มาเป็นอันดับที่ 1 ตามด้วยสหรัฐอเมริกา และประเทศไทย จะเห็นได้ว่าธุรกิจเริ่มต้น และธุรกิจที่มีอายุน้อยกว่า 3.5 ปีของไทยมีน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ

จากการสำรวจพบว่า อุปสรรคที่มีผลต่อการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการในประเทศไทย จากข้อมูลได้การสัมภาษณ์เชิงลึกของผู้เชี่ยวชาญในประเทศ ด้านปัจจัยที่เป็นอุปสรรคที่ส่งผลต่อการพัฒนาสังคมความเป็นผู้ประกอบการไทยคือ การสนับสนุนทางการเงิน ถือว่าเป็นอุปสรรคหลักสำหรับผู้ประกอบการไทย ถึงแม้จะมีการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์มากขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในการขยายธุรกิจ และการเริ่มต้นธุรกิจของผู้ประกอบการ อีกทั้งการเปิดกว้างของตลาดยังเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่ส่งผลต่อธุรกิจรายเล็ก เนื่องจากเป็นธุรกิจขนาดเล็ก การค้าในตลาดเสรีจึงเป็นเรื่องยาก เพราะเกิดการกีดกันทางการค้าจากธุรกิจรายใหญ่ และอุปสรรคในเรื่องของนโยบายของรัฐ ที่ยังคงขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ประกอบกับความไม่มั่นคงทางการเมือง ซึ่งส่งผลต่อความไม่ต่อเนื่องของโครงการต่าง ๆ ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถไว้วางใจนโนบายภาครัฐได้ในระยะยาว ทั้งนี้ในด้านปัจจัยอุปสรรคต่อการขยายธุรกิจจากขนาดเล็กสู่ขนาดกลาง พบว่าปัจจัยอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ เงินสนับสนุน เนื่องจากสถาบันทางการเงินส่วนใหญ่ยังคงมีแนวโน้มที่จะปล่อยสินเชื่อให้แก่วิสาหกิจขนาดใหญ่และขนาดกลางมากกว่าวิสาหกิจขนาดย่อม อีกทั้งทักษะและความสามารถของผู้ประกอบการรายเล็กส่วนใหญ่ยังคงขาดทักษะในการบริหารจัดการธุรกิจ จึงทำให้ไม่สามารถขยายธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการเปิดกว้างของตลาดผู้ประกอบการยังคงได้รับการกีดกันทางการค้าจากคู่แข่งขนาดใหญ่ ซึ่งมีทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ

คุณฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร YLG Bullion & Futures Co,. Ltd ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการสนับสนุนทางการเงินว่า “ในแต่ละธนาคารจะมีความแตกต่างกันออกไป ถ้าเราไปขอกู้โดยธนาคารที่ไม่เข้าใจในธุรกิจของเรา มันอาจจะยาก เฉพาะนั้นการที่เราจะขอกู้เงินในขั้นแรกจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก และหากขอกู้ในจำนวนมาก ๆ อาจเป็นเรื่องยาก ข้อสำคัญคือเราต้องสร้างความเชื่อมั่นในกับธนาคารก่อน และทำให้ธนาคารเข้าใจในธุรกิจของเราค่ะ ”

ด้านคุณศรัญ ญาณโสภนานันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิโอเน่ คอร์ปเรชั่น จำกัด กล่าวถึงทักษะของผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดโลกว่า “ผมมองว่าความสามารถในการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ หน่วยงานต่าง ๆ ควรคำนึงและมุ่งพัฒนาความสามารถในการสื่อสารของผู้ประกอบการ ภาษาอังกฤษถือเป็นเรื่องสำคัญในการทำธุรกิจกับต่างประเทศ แต่เรื่องของขนาดธุรกิจไม่เป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจกับต่างประเทศแต่อย่างใด”

การศึกษาระดับความเป็นผู้ประกอบการในประเทศไทยนอกเหนือจากจะได้ดูศักยภาพของประเทศไทยแล้ว ยังสามารถเปรียบเทียบความทักษะสามารถกับประเทศอื่น ๆ ได้อีกด้วย จึงทำให้รู้ถึงโอกาสในการทำธุรกิจต่อไป และนำจุดด้อยไปพัฒนาให้แข็งแกร่งขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพการทำธุรกิจให้กับประเทศไทย