สถานการณ์ SMEs ฟื้นตัวต่อเนื่อง ยอดส่งออกโต 4 % มียอดตั้งกิจการใหม่ 5,592 ราย


สสว. เผยสถานการณ์ SMEs ก.ค. 2557 ฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งด้านการส่งออกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ด้วยมูลค่ากว่า 157 ล้านบาท ตลาดหลักยังคงอยู่ที่ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ โดยมีสินค้าหลัก อาทิ อัญมณี พลาสติก เครื่องจักร ขณะที่ SMEs กิจการตั้งใหม่มีจำนวน 5,592 ราย ปัจจัยสำคัญมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ส่งผลดีต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย และความเชื่อมั่นต่อการบริโภค การค้า-ลงทุน

รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ SMEs ในเดือนกรกฎาคม 2557 ทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการจัดตั้งและยกเลิกกิจการของ SMEs พบว่า สถานการณ์โดยภาพรวมมีทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ที่สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ประกอบการ SMEs และนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เห็นได้จากสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นของการบริโภคภายในประเทศ การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายของภาครัฐ ขณะที่เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศคู่ค้าหลักของไทยมีการฟื้นตัว ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าของผู้ประกอบการไทย 

เมื่อพิจารณาด้านการค้าระหว่างประเทศของ SMEs ในเดือนกรกฎาคม พบว่า มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยการส่งออกของ SMEs ในเดือนกรกฎาคม 2557 มีมูลค่ารวม 157,202.53 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 26.87 ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งประเทศ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.20 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่หดตัวลงจากเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ร้อยละ 8.58 โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี (มกราคม-กรกฎาคม) มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,137,622.39 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2556 ร้อยละ 13.18

ตลาดหลักที่ SMEs ไทย ส่งออกสินค้าสูงสุดเดือนกรกฏาคม ได้แก่ จีน มูลค่า 18,553.31 ล้านบาท รองลงมาคือ ญี่ปุ่น มูลค่า 15,916.90 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา มูลค่า 13,247.63 ล้านบาท มาเลเซีย มูลค่า 7,910.24 ล้านบาท และ ฮ่องกง มูลค่า 6,889.63 ล้านบาท สำหรับสินค้าที่มีการส่งออกสูงสุด ได้แก่ พลาสติกและของทำด้วยพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ยานยนต์และส่วนประกอบ และอุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ตามลำดับ

ด้านการนำเข้าของ SMEs ในเดือนกรกฎาคม มีมูลค่า 185,814.68 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 30.54 ของมูลค่าการนำเข้ารวมทั้งประเทศ หดตัวลง ร้อยละ 13.18 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ร้อยละ 3.32 หาก เมื่อพิจารณาในช่วง 7 เดือนแรกของปี (มกราคม-กรกฎาคม) มีมูลค่าการนำเข้ารวม 1,259,820.51 ล้านบาท หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปี 2556 ร้อยละ 13.20

 ตลาดหลักที่ SMEs นำเข้าสินค้าในเดือนกรกฎาคมสูงสุด ได้แก่ จีน มูลค่ารวม 50,269.23 ล้านบาท รองลงมา คือ ญี่ปุ่น มูลค่า 29,213.06 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา มูลค่า 12,242.18 ล้านบาท มาเลเซีย มูลค่า 7,666.72 ล้านบาท และ เยอรมนี มูลค่า 7,403.77 ล้านบาท โดยสินค้าที่นำเข้าสูงสุด ได้แก่ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก เหล็กและเหล็กกล้า ตามลำดับ

ในส่วนการจัดตั้งและยกเลิกกิจการ พบว่า ในด้านการจดทะเบียนจัดตั้งกิจการ เดือนกรกฎาคม มีจำนวน 5,592 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 7.55 แต่หดตัวลงร้อยละ 12.66 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สำหรับกิจการที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่สูงสุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย ภัตตาคาร/ร้านอาหาร ขายส่งเครื่องจักร อสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่เพื่อพักอาศัย และธุรกิจจัดนำเที่ยว

ส่วนการยกเลิกกิจการ ในเดือนกรกฎาคม มีจำนวน 1,477 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 14.85 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สำหรับกิจการยกเลิกมากที่สุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย การขายสลากกินแบ่ง อสังหาริมทรัพย์ไม่ใช้เพื่อพักอาศัย การให้คำปรึกษาด้านการจัดการ ภัตตาคาร/ร้านอาหาร

อย่างไรก็ดี สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้เตรียมเดินหน้ายุทธศาสตร์การส่งเสริม SMEs ระยะเร่งด่วนปี 2558 ที่ครอบคลุมทั้งการสร้างปัจจัยพื้นฐานและการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีโครงการสำคัญ อาทิ การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ SMEs การสนับสนุนให้ SMEs เข้าถึงตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การจัดตั้ง One Stop Service Center การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ธุรกิจ SMEs Online การสนับสนุนและพัฒนา SMEs ที่มีศักยภาพสูง  การสร้างเครือข่ายธุรกิจกับ SMEs ในอาเซียน ฯลฯ ซึ่งคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ต่อไป