สสว. เชื่อ ไตรมาสสุดท้ายเศรษฐกิจจะคึกคัก จากภาวะเศรษฐกิจโดยภาพรวมปรับตัวดีขึ้น


สสว. เชื่อมั่นไตรมาสสุดท้ายกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะคึกคัก ผลจากภาวะเศรษฐกิจโดยภาพรวมปรับตัวดีขึ้น จากสถานการณ์ SMEs ช่วง 8 เดือนแรกปี 2557 เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว เห็นจากตัวเลขส่งออก SMEs ขยายตัวอยู่ที่ 1.28 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 ตลาดหลักสำคัญขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่สถานการณ์จัดตั้ง-ยกเลิกกิจการ ยังอยู่ในภาวะหดตัว

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผย จากการดำเนินการวิเคราะห์สถานการณ์ SMEs ประจำเดือนสิงหาคม และช่วง 8 เดือนแรกของปี 2557 (มกราคม-สิงหาคม) ทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการจัดตั้งและยกเลิกกิจการของ SMEs พบว่า สถานการณ์โดยภาพรวมมีการชะลอตัว จากภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ-เอกชน ที่หดตัวลงหลังจากเร่งขยายตัวไปมากภายหลังที่สถานการณ์การเมืองคลี่คลาย แต่ สสว. เชื่อมั่นว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีสถานการณ์ต่างๆ ในภาพรวมจะปรับตัวดีขึ้น ผลจากการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่มีความชัดเจน การท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น การผลิตภาคเกษตรกรรมขยายตัวต่อเนื่อง เสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 70.1 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน

เมื่อพิจารณาด้านการค้าระหว่างประเทศของ SMEs พบว่า การส่งออกของ SMEs ในช่วง 8 เดือนแรกของปี (มกราคม-สิงหาคม) มีมูลค่ารวม 1,282,557 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 9.11 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.47 ของมูลค่าการส่งออกรวม ขณะที่เดือน ส.ค. การส่งออกของ SMEs มีมูลค่า 144,934 ล้านบาท หดตัวลงเมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 7.80 และ 14.9 ตามลำดับ

สำหรับตลาดหลักที่ SMEs ไทย ส่งออกสินค้าในช่วง 8 เดือนแรกในระดับสูง ได้แก่ จีน มีมูลค่ารวม 151,789 ล้านบาท รองลงมาคือ ญี่ปุ่น มีมูลค่า 125,986 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา มูลค่า 96,958 ล้านบาท มาเลเซีย มีมูลค่า 64,325 ล้านบาท และเวียดนาม มูลค่า 48,935 ล้านบาท โดยทุกประเทศมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 9.82-23.38 โดยเฉพาะเวียดนามที่มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 23.38 สำหรับสินค้าที่มีการส่งออกสูงสุด ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รองลงมาคือ พลาสติกและของทำด้วยพลาสติก เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ยานยนต์และส่วนประกอบ ตามลำดับ โดยทุกหมวดสินค้าดังกล่าว การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 10.05-33.76

อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (เดือน ตุลาคม-ธันวาคม2557) ทั้งในด้านการสร้างงาน และการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยวงเงิน 3.24 แสนล้านบาท อาทิ การขยายเวลาการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ไปถึงสิ้นเดือน ธันวาคม 2557 การเร่งรัดทำสัญญาจ้างของหน่วยราชการตามงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 เร่งรัดอนุมัติส่งเสริมการลงทุน (BOI) ฯลฯ จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ให้มีทิศทางการขยายตัวที่ดียิ่งขึ้น