สสว. เผยสถานการณ์ SMEs เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว เห็นได้จากตัวเลขส่งออกทั้งรอบ 9 เดือน และเดือน ก.ย. เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.45 ล้านล้านบาท และ 0.16 ล้านล้านบาท ผลจากการขยายตัวของตลาดส่งออกหลัก ทั้ง เอเซีย จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอเมริกา ขณะที่การจัดตั้งกิจการใหม่เดือน ก.ย. เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 โดยเฉพาะก่อสร้างอาคาร ร้านอาหาร ขายส่งเครื่องจักร ฯลฯ เชื่อมั่นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล จะส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจของ SMEs และต่อเศรษฐกิจประเทศในปลายนี้
รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ดำเนินการวิเคราะห์สถานการณ์ SMEs ช่วง 9 เดือน ปี 2557 (มกราคม-กันยายน) ทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการจัดตั้งและยกเลิกกิจการของ SMEs พบว่า สถานการณ์โดยภาพรวมมีสัญญาณการฟื้นตัวมากขึ้น ผลจากการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลเริ่มมีความชัดเจนขึ้น การบริโภคภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงสิ้นปีงบประมาณ ขณะที่การท่องเที่ยวเริ่มมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น เห็นได้จากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การเมืองของไทย ขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศคู่ค้าสำคัญมีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
เมื่อพิจารณาด้านการค้าระหว่างประเทศของ SMEs พบว่า การส่งออกในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่ารวม 1,445,571 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.47 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.40 ของมูลค่าการส่งออกรวม ในเดือน ก.ย. การส่งออกของ SMEs มีมูลค่า 163,014 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาและเดือนเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 12.47 และ 3.69 ตามลำดับ ตลาดหลักที่ SMEs ไทย ส่งออกสินค้าในช่วง 9 เดือนแรกสูงสุด ได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียน มูลค่า 386,197 ล้านบาท รองลงมาคือ จีน มูลค่า 170,192 ล้านบาท กลุ่มสหภาพยุโรป มูลค่า 148,473 ล้านบาท ญี่ปุ่น มูลค่า 141,259 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา มูลค่า 109,847 ล้านบาท ซึ่งทุกตลาดหลักดังกล่าวขยายเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 4.21-17.13 โดยสินค้าที่มีการส่งออกสูงสุด ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รองลงมาคือ พลาสติกและของทำด้วยพลาสติก เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ยานยนต์และส่วนประกอบ ตามลำดับ และการส่งออกสินค้าในทุกหมวดดังกล่าวขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 4.86-31.19
ส่วนการนำเข้าของ SMEs ช่วง 9 เดือน มีมูลค่า 1,641,438 ล้านบาท หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 9.79 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.38 ของมูลค่าการนำเข้ารวม ในเดือน ก.ย. การนำเข้าของ SMEs มีมูลค่า 219,927 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา และเดือนเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 36.02 และ 19.97 ตามลำดับ ตลาดที่ SMEs นำเข้าสินค้าช่วง 9 เดือนแรกสูงสุด ได้แก่ จีน มูลค่า 439,083 ล้านบาท รองลงมา คือ ญี่ปุ่น มูลค่า 247,238 ล้านบาท กลุ่มประเทศอาเซียน มูลค่า 232,720 ล้านบาท กลุ่มสหภาพยุโรป มูลค่า 196,722 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา มูลค่า 98,314 ล้านบาท โดยสินค้าที่นำเข้าสูงสุด ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ รองลงมาคือ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก เหล็กและเหล็กกล้า ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาในด้านการจัดตั้งและยกเลิกกิจการช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) พบว่า กิจการที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่มีจำนวน 46,341 ราย หดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 18.02 ขณะที่เดือน ก.ย. มีกิจการจัดตั้งใหม่จำนวน 6,079 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา และช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 16.8 และ 8.1 ตามลำดับ ประเภทกิจการที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่สูงสุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย ภัตตาคาร/ร้านอาหาร ขายส่งเครื่องจักรและอุปกรณ์ อสังหาริมทรัพย์เพื่อพักอาศัย และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ ตามลำดับ
ส่วนการจดทะเบียนยกเลิกกิจการ ในช่วง 9 เดือน มีจำนวน 10,206 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 7.5 ขณะที่เดือน ก.ย. มีการยกเลิกกิจการรวม 1,643 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา และช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 32.9 และ 13.3 ตามลำดับ ประเภทกิจการที่มีการยกเลิกมากที่สุด ได้แก่ ขายสลากกินแบ่ง ก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย อสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่เพื่อพักอาศัย การให้คำปรึกษาด้านการจัดการ และขายส่งเครื่องจักร ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ทะยอยออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 4 วงเงิน 360,000 ล้านบาท อาทิ การให้เงินช่วยเหลือชาวนา วงเงิน 40,000 ล้านบาท สร้างการจ้างงานในชนบทโดยการซ่อมแซมสถานศึกษาและสถานที่ราชการ วงเงิน 23,000 ล้านบาท การลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานราชการ รวมถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้กับ SMEs ฯลฯ จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มอำนาจซื้อให้กับประชาชน กระตุ้นให้เกิดการบริโภค การค้า การลงทุน และสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ให้มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น