สสว. เผย โอกาส SMEs ไทยปี 2558 ธุรกิจความงามมีสิทธิรุ่ง


สสว. เผย แนวโน้มปี 2558 ธุรกิจความงามมีสิทธิรุ่งสูง จากแรงหนุนด้านความไว้ใจในสินค้าความงามไทยจากต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญแก่การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ เพื่อเข้าถึงการพัฒนาศักยภาพของธุรกิจจากหน่วยงานภาครัฐ

ดร. วิมลกานต์ โกสุมาส รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผย ธุรกิจเสริมความงามมาแรงในปี 2558 และธุรกิจอาหารจำพวก อาหารเสริม เนื่องจากเทรนด์ด้านการบริการสุขภาพกำลังได้รับความนิยมและกิจการความงามยังมีระดับรายได้สูงกว่ากิจการอื่น ๆ นอกจากนี้ธุรกิจเกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นเทรนด์ในอนาคต แต่อย่างไรก็ดีธุรกิจด้านความงามยังมาแรงแซงธุรกิจอื่น ๆ

สำหรับแรงหนุนที่ส่งผลต่อธุรกิจความงามให้เกิดความนิยมนั้น ดร. วิมลกานต์ ให้ข้อมูลว่า ธุรกิจความงามเริ่มมาจากการท่องเที่ยว ส่งผลให้สปาไทยเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวต่างชาติ จนเกิดความประทับใจในเครื่องสำอางไทย และเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ชาวต่างชาติได้รู้จักธุรกิจความงามของไทย และทำให้เกิดความไว้วางใจ ซึ่งตอนนี้สสว.กำลังคัดเลือกเครื่องสำอางของไทย เพื่อไปเข้าซัพพลายเชนกับบริษัทต่างชาติยักษ์ใหญ่ ในส่งออกเครื่องสำอางไทยไปต่างประเทศ รวมถึงภูมิภาคอาเซียนด้วย แต่เกิดปัญหาเนื่องจากผู้ประกอบการไทย มีการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการน้อย ทำให้การประสานงานเป็นไปได้ยาก และ ณ วันนี้ภาครัฐเองทุกหน่วยงาน มีการบริการต่าง ๆ มากมาย เพื่อเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ แต่หลายท่านเสียสิทธิในส่วนนี้ไป เนื่องจากการไม่ได้รับข้อมูลกิจกรรมต่าง ๆ จากหน่วยงานภาครัฐ ดังนั้นผู้ประกอบการควรมีการติดตามกิจกรรมต่าง ๆ ที่หน่วยงานภาครัฐได้มีการจัดขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดประโยชน์ในการพัฒนาธุรกิจของท่านเอง หรือการเข้าร่วมขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ ก็จะช่วยให้ท่านได้รับข้อมูลกิจกรรมเหล่านั้นจากหน่วยงานโดยตรง ทั้งนี้ผู้ประกอบการควรกรองข้อมูลให้ครบถ้วน ทั้งชื่อ ที่อยู่ และสำคัญที่สุดคือความต้องการอยากให้หน่วยงานรัฐช่วยเหลือด้านใด เพื่อประโยชน์แก่ตัวท่านเอง

ด้านอุปสรรคที่ SMEs ควรระมัดระวัง คือความเสี่ยงด้านการลงทุน และอัตรากรแลกเปลี่ยน อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก และไทยยังละเลยกับปัญหาด้านนี้ คือ เรื่องความเสี่ยงในด้านภัยพิบัติ โดยคนไทยเองอาจไม่ค่อยพูดถึงเรื่องนี้เท่าใดนัก แต่ในต่างประเทศจัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มภูมิภาคที่มีความเสี่ยงเรื่องภัยธรรมชาติสูงที่สุดในโลก ณ ขณะนี้ ยกตัวอย่าง ปี 2554 ประเทศไทยประสบปัญหามหาอุทกภัย ยาวนานเกือบ 3 เดือน ส่งผลให้ธุรกิจ SMEs หลาย ๆ กิจการต้องปิดตัวลง เนื่องจากเราขาดการวางแผนรับมือในเรื่องนี้ ดร. วิมลกานต์ กล่าวว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการแนะนำว่าในช่วงธุรกิจดี ๆ ควรมีการกู้เงินทุนเก็บเอาไว้ เพื่อสำรองในยามฉุกเฉิน สำหรับธุรกิจรายเล็ก ๆ นั้นสำคัญมาก เพราะเป็นการบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ

สำหรับนโยบายเพิ่มโอกาสให้กับ SMEs ในปี 2557 สสว.จะมีการศูนย์บริการ OSS เป็น One Stop Service ให้กับผู้ประกอบการ 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือด้านการให้คำปรึกษาต่าง ๆ แก่ผู้ประกอบการ สำหรับปัญหาอับดับแรก ที่มีผู้ประกอบการเข้ามาขอความช่วยเหลือมากที่สุดใน 2 ปี ที่ผ่านมา คือ เรื่องกฏหมาย เนื่องจากผู้ประกอบการหลายท่านยังขาดความรู้ในเรื่องนี้ และรองลงมาเป็นเรื่อง การทำตลาดออนไลน์ ซึ่งเป็นข้อกังวลของผู้ประกอบการหน้าใหม่ โดยสสว. พยายามขอความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของโลก เพื่อจับมือกับร่วมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในเรื่องนี้ รวมถึงการบริหารจัดการการเงิน ที่ผู้ประกอบการหลายท่านอาจจะยังไม่รู้วิธีการแก้ไขปัญหาเรื่องภาระหนี้สิน สสว. เล็งเห็นความกังวลในส่วนนี้จึงได้จัดตั้งนโยบายช่วยในเรื่องของการวางแผนการบริหารจัดการเงินขึ้น โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้สสว ยังมีความร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งมีเครือข่าย 9 เครือข่าย ทั้งนี้สสว. ให้งบประมาณแก่ สกอ. เพื่อให้มหาวิทยาลัยในเครือทั่วประเทศ  เปิดบริการให้คำปรึกษาองค์ความรู้ต่าง ๆ อย่างลึกซึ้งแก่ผู้ประกอบการ ทั้งเรื่องการพัฒนา Packaging ระบบสารสนเทศ และเทคโนโลยีต่าง ๆ ตามความต้องการของผู้ประกอบการ ด้วยแนวความคิดที่ว่ามหาวิทยาลัยมีเทคโนโลยี และเข้าถึงผู้ประกอบการได้มากกว่าหน่วยงานภาครัฐ