ลำไยไทยมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นในตลาดจีน


ลำไยผลไม้ส่งออกอันดับ 1 ของประเทศไทย จากข้อมูลพบว่า ไทยมีการส่งออกในปี 2556 กว่า 564,549 ตัน โดยมีประเทศจีนเป็นตลาดหลักสำคัญ เนื่องจากผู้บริโถคชาวจีนมีความนิยมในการรับประทานลำไย เพราะเชื่อว่าเป็นผลไม้ดวงตามังกร บริโถคแล้วจะโชคดี เจริญก้าวหน้า

ลำไย จัดได้ว่าเป็นผลไม้ส่งออกอันดับ 1 ของประเทศไทย และไทยเป็นประเทศผู้ผลิตลำไยรายใหญ่ของโลก โดยมีการส่งออกไปในหลาย ๆ ประเทศ ในรูปแบบสด แช่เย็น แช่แข็ง อบแห้ง และแบบกระป๋อง สร้างรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 15,000 ล้านบาท ทั้งนี้ประเทศจีนเป็นตลาดสำคัญที่มีการทำการค้ามายาวนานต่อเนื่อง และตลาดสำคัญรองจากจีนได้แก่ ฮ่องกง อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นต้น

                ข้อมูลการส่งออกลำไยของไทยจาก ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร ในปี 2556 ไทยมีการส่งออกลำไย 564,549 ตัน แบ่งเป็น ลำไยสด/แช่เย็น 413,400 ตัน ลำไยแช่แข็ง 55 ตัน ลำไยอบแห้ง 140,232 ตัน และลำไยกระป๋อง 10,862 ตัน โดยลำไยสด/แช่แข็งส่งออกไปที่ จีน 50.46% ฮ่องกง 16.14% อินโดนีเซีย 43.09% เวียดนาม 34.86% สิงคโปร์ 3.03% ส่วนการส่งออกลำไยอบแห้งของไทย ในปี 2556 ไทยได้มีการส่งออกไปประเทศจีน กว่า 58.13% เวียดนาม 36.38% ฮ่องกง 1.70%  พม่า 0.95% และเกาหลีใต้ 0.78% โดยมีประเทศคู่แข่งคือ เวียดนาม และไต้หวัน แต่อย่างไรก็ดีไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดกว่า 90% ซึ่งยังไม่มีประเทศใดตีเสมอขึ้นมาได้

                สาเหตุที่จีนเป็นประเทศที่นำเข้าลำไยเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยนั้น นอกจากรสชาติที่อร่อยหวานชุ่มคอแล้ว ผู้บริโภคชาวจีนยังมีความเชื่อว่าลำไยเป็นผลไม้ดวงตามังกร เมื่อบริโภคแล้วจะโชคดี เจริญรุ่งเรือง ประเทศไทยค่อยข้างมีโอกาสสูงมากในการเจาะตลาดในจีน เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีน มีความเชื่อมั่นในสินค้าไทยค่อยข้างสูง ว่าสะอาด และปลอดภัย อีกทั้งไทยยังครองส่วนแบ่งการตลาดในจีนอยู่กว่า 90% โดยสินค้าลำไยสดส่วนใหญ่ของจีนนำเข้าจากไทยและเวียดนาม แต่ลำไยส่วนหนึ่งที่เวียดนามส่งออกไปจีนก็ได้มีการนำเข้าจากไทยเพื่อส่งต่อ ส่วนสินค้าลำไยอบแห้งเกือบทั้งหมดจีนนำเข้าจากไทย ส่วนสินค้าอื่น ๆ ที่ผลิตจากลำไย จีนได้มีการนำเข้าจากพม่า และไต้หวัน ฮ่องกง กัมพูชาอีกเพียงเล็กน้อย อีกทั้งความตกลงอาเซียน ลำไยเป็นหนึ่งผลไม้ของไทยที่ได้รับประโยชน์จากความตกลงการค้าอาเซียน โดยจีนได้มีการลดภาษีนำเข้าสินค้าลำไยสดสำหรับไทย เป็น 0%

                สำหรับอุปสรรคสำคัญของการส่งออกลำไยจากไทยไปจีน คือ การมีปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในเนื้อผลลำไยสด สูงกว่าเกณฑ์ที่จีนได้กำหนดไว้ ซึ่งในปี 2557 นี้ มีผู้ส่งออกของไทยกว่า 10 บริษัท ถูกจีนระงับการนำเข้าลำไยสด เนื่องจากปัญหาสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในเนื้อลำไยสดเกินค่ามาตรฐาน แต่ทั้งนี้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ มกอช. และกรมวิชาการเกษตรในมีแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในเนื้อผลลำไยสด โดยจัดทำมาตรฐานหลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรมผลไม้สดด้วยสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถประกาศเป็นมาตรฐานบังคับได้ภายในปลายปี 2557 นี้โดยจะมีผลบังคับใช้ภายใน 6 เดือนหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยควบคุมคุณภาพลำไยสดให้มีความปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

                อย่างไรก็ดีหากไทยสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ได้ จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าประเภทลำไยได้ ซึ่งไทยยังคงมีโอกาสสูง เพราะมีความได้เปรียบประเทศคู่แข่งในหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านศักยภาพของผู้ประกอบการ และนวัตกรรมต่าง ๆ ในการอบแห้ง หรือแช่แข็ง ทั้งนี้ผู้ประกอบก็ไม่สามารถชะล่าใจได้  ควรมีการศึกษาประเทศคู่ค้าให้เป็นอย่างดี โดยชาวจีนมีการให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ค่อนข้างสูง ผู้ประกอบการควรศึกษาในเรื่องของมารยาทการเข้าสังคมต่าง ๆ ของผู้ประกอบการชาวจีน ร่วมถึงการสื่อสาร ภาษามีความสำคัญมากในการติดต่อธุรกิจ เพื่อความชัดเจน และเข้าใจข้อตกลงต่าง ๆ เมื่อการติดต่อธุรกิจเป็นเรื่องง่ายขึ้น เศรษฐกิจก็จะสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคง และก้าวกระโดดต่อไป