สสว. อนุมัติ 6 โครงการส่งเสริม SMEs วงเงิน 570 ล้านบาท สร้างฐานข้อมูล พัฒนาศักยภาพและศูนย์บริการ SMEs พร้อมเดินหน้าสร้างเครือข่าย SMEs 18 กลุ่มจังหวัด เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ
สสว. จัดการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ครั้งที่ 1 ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมแล้ว ทาง สสว. เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญต่อการส่งเสริม SMEs เป็นอย่างมาก และเห็นว่า SMEs เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายที่จะส่งเสริม SMEs ให้มีความเข้มแข็ง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และบริการต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา SMEs หาแนวทางที่จะจูงใจให้ SMEs เข้ามาขึ้นทะเบียนให้มากขึ้น พร้อมทั้งพิจารณาจัดกลุ่มธุรกิจให้ครบวงจรธุรกิจ ตั้งแต่กลุ่มเริ่มต้น กลุ่มเติบโต กลุ่มที่ส่งออก และกลุ่มที่ต้องฟื้นฟู เพื่อจัดมาตรการส่งเสริมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ได้มีการอนุมัติโครงการสำคัญต่อการส่งเสริม SMEs ซึ่ง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) นำเสนอด้วยการจัดสรรเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ดำเนินโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ส่งเสริม SMEs ระยะเร่งด่วน ปี 2558 เพิ่มเติมและโครงการตามนโยบายขับเคลื่อน SMEs ของรัฐบาล รวมจำนวน 6 โครงการ วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 570 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นงานสนับสนุนการจัดทำนโยบายและแผนการส่งเสริม SME ที่สำคัญ และเป็นกิจกรรมที่สามารถพัฒนายกระดับ SMEs ให้สามารถเติบโตได้ตามศักยภาพ ประกอบด้วย
1. โครงการจัดทำฐานข้อมูล SMEs แห่งชาติ วงเงิน 40 ล้านบาท เป็นการจัดทำระบบฐานข้อมูล SMEs ของประเทศให้อยู่ในรูปแบบ Business Intelligence (BI) หรือ เทคโนโลยีสำหรับการรวบรวมข้อมูลโดยบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้มีข้อมูลของ SMEs ไม่น้อยกว่า 2 ล้านรายทั่วประเทศ เพื่อใช้กำหนดนโยบาย ผลการส่งเสริม รวมถึงติดตามสถานการณ์และผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับ SMEs
2. โครงการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ SMEs วงเงิน 42 ล้านบาท เป็นการออกแบบระบบการขึ้นทะเบียนและกำหนดสิทธิประโยชน์ให้แก่ SMEs ที่ขึ้นทะเบียน ซึ่งกำหนดเป้าหมายขึ้นทะเบียนให้ได้ไม่น้อยกว่า 100,000 รายในปีแรกนี้
3. โครงการสนับสนุนและพัฒนา SMEs ที่มีศักยภาพสูง วงเงิน 60 ล้านบาท โดยการคัดเลือก SMEs ที่มีศักยภาพทั่วประเทศเข้ารับการประเมินในระบบ Scoring และทำการส่งเสริมให้เติบโตแบบก้าวกระโดดผ่านการให้ความช่วยเหลือแบบเร่งด่วน เพื่อสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ สามารถผลักดันสินค้าออกสู่สากล และเป็นผู้สร้างนวัตกรรมใหม่ให้แก่ประเทศ
4. โครงการสุดยอด SMEs จังหวัด ซึ่งเป็นโครงการเร่งด่วนตามนโยบายขับเคลื่อนการส่งเสริม SMEs วงเงิน 87 ล้านบาท เพื่อสร้างต้นแบบธุรกิจที่มีศักยภาพให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับจังหวัด และสนับสนุนให้มีการถ่ายทอดการจัดการองค์ความรู้ธุรกิจสู่ SMEs ในภูมิภาค โดยการคัดเลือกผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพในการตลาดจากแต่ละจังหวัดทั่วประเทศนำมาเข้าสู่กระบวนการพัฒนาของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะจัดให้มีนักวินิจฉัย ที่ปรึกษา การฝึกอบรม กิจกรรมส่งเสริมการตลาด และเชื่อมโยงเข้าสู่บริการที่ภาครัฐมีอยู่ เช่น สินเชื่อ การร่วมลงทุน การพัฒนาเทคโนโลยี ฯลฯ
5. โครงการสนับสนุนเครือข่าย SMEs 18 กลุ่มจังหวัด วงเงิน 309 ล้านบาท เป็นการพัฒนาตามระดับศักยภาพ สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของครือข่าย SMEs (Cluster) ระดับพื้นที่ จำนวน 54 เครือข่าย ให้มีความเข้มแข็งเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมดำเนินการรวม 9 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมการข้าว กรมหม่อนไหม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย วงเงินรวม 309 ล้านบาท คาดว่าจะมีผู้ประกอบการ SMEs ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 10,000 ราย
และ 6. การจัดตั้งศูนย์ให้บริการ SMEs ครบวงจรในรูปแบบ One Stop Service Center วงเงิน 32 ล้านบาทที่สามารถให้บริการข้อมูลรอบด้าน บริการที่ปรึกษาแนะนำ รวมถึงการฝึกอบรมที่ตรงความต้องการของผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะ และอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูล ความรู้ ซึ่งจะดำเนินโครงการนำร่องในกรุงเทพมหานคร
อย่างไรก็ตามการดำเนินงานต่างๆ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างกลไกการส่งเสริม SMEs ที่มีประสิทธิภาพทั่วถึง ลดความซ้ำซ้อน สามารถตอบสองความต้องการของ SMEs ในแต่ละวงจรธุรกิจตรงจุด ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ SMEs ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย และบรรลุเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมให้ SMEs สามารถพัฒนาเข้าสู่ ตลาดการขายสินค้าและบริการระดับโลกได้ในที่สุด