พาณิชย์ สำรวจท่าเรือสงขลา เตรียมพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ


       คณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ นำโดยที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พลเอก ดิฏฐพร  ศศะสมิต ได้สำรวจศักยภาพโครงสร้างพื้นฐาน และการอำนวยความสะดวกทางการค้าทั้งทางบกและทางน้ำในจังหวัดสงขลา เพื่อสนับสนุนการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา และการค้าชายแดนทางภาคใต้ที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย

       ทั้งนี้ท่าเรือสงขลา ซึ่งเป็นท่าเรือที่รัฐบาลให้สัมปทานเอกชนได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2531 เพื่อให้เป็นท่าเรืออเนกประสงค์ ที่มีขีดความสามารถในการให้บริการสินค้าผ่านท่าเรือ 1.9 ล้านตัน/ปี บริการตู้คอนเทนเนอร์ได้ 175,000 ตู้/ปี ซึ่งเรือที่ใช้บริการเทียบท่ามักเป็นเรือสินค้าทั่วไป เรือคอนเทนเนอร์ เรือสินค้าห้องเย็น เรือซัพพลาย และเรือลำเลียง ฉะนั้นการขนสินค้าส่งออกส่วนใหญ่จะเป็นไม้เฟอร์นิเจอร์ อาหารกระป๋อง ยางพารา ถุงมือยาง สินค้าแช่แข็ง ส่วนสินค้านำเข้าเป็นจำพวกสินค้าแช่แข็ง เครื่องจักรกล อาหารสัตว์ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

        ซึ่งท่าเรือสงขลานี้ ได้ดำเนินการมานานเกือบ 20 ปี ซึ่งให้บริการเรือขนส่งสินค้าไปขึ้นเรือใหญ่ที่สิงคโปร์ และส่งสินค้าไปยังประเทศคู่ค้าทั่วโลก โดยนายวัฒนชัย  เรืองเลิศปัญญากุล  ผู้อำนวยการท่าเรือสงขลา ได้เปิดประเด็นที่สำคัญใน ตอนนี้คือ ต้องเร่งปรับปรุงแก้ไขการบริการของท่าเรือสงขลาให้มีประสิทธิภาพในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น ดังนั้นประเด็นดังกล่าวจะนำเสนอแก่รัฐบาล เพื่อขอลงทุนติดตั้งปั้นจั่น ณ ท่าเรือ (ปัจจุบันท่าเรือสงขลายังไม่มีปั้นจั่นติดตั้งบริการหน้าท่า) แต่ขณะเดียวกันท่าเรืออื่นๆ ส่วนใหญ่ให้บริการเรือขนส่งโดยมีการติดตั้งปั้นจั่นหน้าท่าแล้ว เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนประมาณ 1,800 ล้านบาทสำหรับการดำเนินการในครั้งนี้ด้วย อีกทั้งการลงทุนดังกล่าวทางภาคเอกชนได้มีความพร้อมที่จะลงทุนแล้ว แต่ยังมีข้อกังวลในการขอต่ออนุญาตการรับสัมปทานจากภาครัฐก่อน

        นอกจากนี้ทางด้านความพร้อมสำหรับการอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และคณะ ได้ดำเนินการตรวจเยี่ยมด่านปาดังเบซาร์ ด่านสะเดา จังหวัดสงขลา และด่านวังประจัน จังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 11 – 12 มิถุนายน 2558 ซึ่งพบว่า ด่านปาดังเบซาร์ ที่ดูแลการเข้าออกสินค้าผ่านทางรถไฟและรถยนต์ จะเน้นทางรถไฟ (ทางราง) เป็นหลัก โดยมีการขนส่งสินค้าผ่านทางรางปีละประมาณ 120,000 ตู้ มีมูลค่าการค้าชายแดนปีละกว่า 150,000 ล้านบาท ขณะนี้ทางด่านได้ติดตั้งเครื่องเอ็กซเรย์สินค้า เพื่อตรวจสอบขณะรถไฟแล่นผ่าน อีกทั้งอยู่ระหว่างดำเนินการปรับและขยายพื้นที่ด่าน และเสนอโครงการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่เชื่อมจากหาดใหญ่ไปยังสถานีบัตเตอร์เวิร์ทและส่งต่อไปท่าเรือปีนังได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ส่วนด่านสะเดาซึ่งเป็นด่านที่มีมูลค่าการค้าสูงสุดตกปีละกว่า 500,000 ล้านบาท และในขณะนี้มีความพร้อมสำหรับการรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษสงขลา เนื่องจากได้รับงบประมาณเพื่อดำเนินการปรับปรุงด่าน แยกการขนคนและขนส่งสินค้าออกจากกัน พร้อมมีศูนย์บริการของหน่วยงานต่างๆ ในการตรวจสอบสินค้าที่อยู่สถานที่เดียวกันด้วย ซึ่งคาดว่าการดำเนินการนี้จะแล้วเสร็จภายในปี 2559 และอีกหนึ่งส่วนคือ ด่านวังประจันเป็นด่านขนาดเล็ก ดูแลการเข้าออกของคนและสินค้า โดยพาหนะเป็นรถบรรทุกขนาดเล็กในการขนส่ง เนื่องจากถนนในฝั่งมาเลเซียก่อนถึงด่านวังประจันค่อนข้างคดเคี้ยวจึงเหมาะสำหรับเป็นเส้นทางสำหรับการท่องเที่ยวมากกว่าการขนส่งเพื่อการค้า

        ทั้งนี้ทางด้านพลเอก ดิฏฐพร  ศศะสมิต ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการปรับปรุงท่าเรือสงขลา เพราะสิ่งนี้เป็นเรื่องเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเตรียมการรองรับการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลาได้อีกทางหนึ่ง จึงให้ผู้บริหารท่าเรือสงขลารีบดำเนินการในเรื่องดังกล่าวโดยเร็ว ส่วนด้านความพร้อมของด่านศุลกากรทั้งด่านปาดังเบซาร์และด่านสะเดา ตอนนี้มีความพร้อมทั้งในด้านบุคลากรและพื้นที่รองรับการให้บริการสำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุนแล้ว