กรมพัฒน์ฯ เอาจริง ร่วมกับพันธมิตร ลุย!! สแกนนอมินี ในพื้นที่ท่องเที่ยว


          กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จับมือพันธมิตรลงพื้นที่ปราบปรามนอมินีท่องเที่ยว ลุยมาแล้วอย่างต่อเนื่อง 5 จังหวัด พบต้องสงสัย 9 ราย ลั่น!! หากตรวจสอบเชิงลึกแล้วพบว่ามีความผิดจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด  เผย พร้อมลงตรวจพื้นที่เดิมซ้ำหากมีเบาะแส

         นางสาวผ่องพรรณ  เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า  เผย  จากที่คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าภาพหลักในการแก้ไขปัญหา นอมินี  กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โดยนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าซึ่งมีภารกิจโดยตรงในการกำกับดูแลธุรกิจให้มีความโปร่งใส และมีธรรมาภิบาล   เป็นผู้แทนในการดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง กรมฯ จึงได้สร้างความร่วมมือจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2557 ระหว่าง 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมการท่องเที่ยว และกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยตกลงร่วมกันที่จะแก้ไขปัญหานอมินีท่องเที่ยวในประเทศไทยให้หมดไป

        จากการลงนาม MOU ที่ผ่านมาหน่วยงานพันธมิตรได้ร่วมกันอย่างจริงจัง ด้วยการจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา 4 ด้านคือ

1.  มาตรการด้านการจดทะเบียน กำหนดให้การประกอบธุรกิจนำเที่ยวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการท่องเที่ยวในฐานะผู้รับผิดชอบก่อน จึงจะสามารถจดทะเบียนนิติบุคคลต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเพื่อให้มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจนำเที่ยวได้ ซึ่งขณะนี้กรมการท่องเที่ยวอยู่ระหว่างพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์

2.  การเชื่อมโยงข้อมูลการจดทะเบียนไปยังกรมการท่องเที่ยว เพื่อให้กรมการท่องเที่ยวสามารถดูแลคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับอนุญาตดำเนินธุรกิจไปแล้วได้อย่างต่อเนื่อง

3.  การคัดกรองและตรวจสอบธุรกิจท่องเที่ยวที่เข้าขายนอมินี เป็นการนำข้อมูลที่แต่ละหน่วยงานได้รับมากำหนดกลุ่มเป้าหมายเพื่อตรวจสอบร่วมกัน ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มที่เข้าข่ายเป็นนอมินีได้อย่างแท้จริง

4.  การดำเนินการทางกฎหมาย ทั้งนี้ได้จัดชุดปฏิบัติการลงพื้นที่ต้องสงสัยเพื่อตรวจสอบร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ

           ขณะนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ร่วมกับกรมการท่องเที่ยว และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงพื้นที่ตรวจสอบนอมินีธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ตามแผนปฏิบัติการมาโดยตลอดตั้งแต่เดือน ม.ค. 58 -ปัจจุบัน โดยได้ดำเนินการไปแล้วใน 5 จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี (พัทยา) สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) และเชียงใหม่ (อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบ) จากผลการตรวจสอบข้อมูลพบธุรกิจมีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นนอมินีจำนวน 9 ราย อยู่ระหว่างสรุปสำนวนเพื่อส่งให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

          สำหรับแผนการลงพื้นที่ในครั้งต่อไปในเดือนกรกฏาคม 2558 จะไปที่จังหวัดภูเก็ตซึ่งขณะนี้ได้      คัดกรองธุรกิจกลุ่มเป้าหมายเบื้องต้นแล้วจำนวน 81 ราย ซึ่งหากตรวจสอบพบการกระทำผิดก็จะส่งดำเนินคดี ถึงที่สุดทุกราย เพื่อปราบปรามไม่ให้มีการใช้ตัวแทนอำพรางและอาจลงพื้นที่เดิมซ้ำหรือพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติมหากพบว่ามีข้อมูลผู้ประกอบธุรกิจที่เข้าข่ายเป็นนอมินี

         กรมฯ จึงขอเตือนคนไทยที่ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนหรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าวเพื่อให้คน ต่างด้าวสามารถเข้ามาประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมาย รวมทั้งคนต่างด้าวที่ให้คนไทยถือหุ้นแทน รวมทั้งกรรมการบริษัทก็ต้องรับผิดด้วย ซึ่งจะมีความผิดโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับตั้งแต่ ๑๐๐,๐๐๐- ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ ๑๐,๐๐๐ – 50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน