ไม่ขาด ไม่เกิน สองหมื่นหกพันบาท โครงสร้างใหม่ ไม่ต้องเสียภาษี


นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เผยว่า โครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. เมื่อวานนี้ จะมีผลทำให้กลุ่มคนรวยที่เคยเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในอัตราสูงสุดที่ 35 % มีภาระภาษีโดยรวม ลดเหลือ 29 % เนื่องจากช่วงเงินได้ใหม่ จากเดิมเงินได้สุทธิมากกว่า 4 ล้านบาท จ่ายภาษีในอัตรา 35 % ปรับเป็นเงินได้มากกว่า 5 ล้านบาท จ่ายภาษีในอัตรา 35 % จึงมีการปรับช่วงเงินได้มากกว่า 2-4 ล้านบาท เดิมจ่ายภาษีอัตรา 30 % เป็นมากกว่า 2 -5 ล้านบาท จ่ายอัตรา 30 % ส่วนขั้นรายได้อื่นๆ ยังคงเดิม คือ รายได้สุทธิ 1-3 แสนบาท เสียภาษี 5% รายได้มากกว่า 3-5 แสนบาท เสียภาษี 10% รายได้มากกว่า 5 -7.5 แสน เสียภาษี 15% รายได้มากกว่า 7.5แสนบาท – 1 ล้านบาท เสียภาษี 20% รายได้มากกว่า 1 -2 ล้านบาท เสียภาษี 25%

ทั้งนี้ การปรับช่วงเงินได้สองช่วงดังกล่าว ทำให้กลุ่มผู้มีรายได้สูงที่เสียภาษีในอัตราสูงสุด มีภาระภาษีลดลงในภาพรวม จากการคำนวณภาษีเงินได้ ทำเป็นช่วงตามขั้นบันได ดังนั้น เมื่อมีการปรับช่วงรายได้ใหม่ ภาระภาษีของคนที่เคยเสียภาษีในอัตรา 35 % จะเหลือเพียง 29 % ใกล้เคียงกับภาระภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่มีภาระภาษี รวมเงินปันผลที่อยู่ระดับ 28%

ตามโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ จะทำให้มนุษย์เงินเดือน ที่มีเงินได้ต่อเดือน ตั้งแต่ 2.6 หมื่นบาท เริ่มมีภาระภาษี จากก่อนหน้านี้ ที่มีเงินได้ตั้งแต่ 2 หมื่นบาทขึ้นไป

โดยการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครั้งนี้ ได้มีการเพิ่มค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล จาก 40 % ไม่เกิน 6 หมื่น เป็น 50 % ไม่เกิน 1 แสนบาท และเพิ่มค่าลดหย่อนส่วนตัว จาก 3 หมื่นบาท เป็น 6 หมื่นบาท รวมถึงเพิ่มค่าลดหย่อนบุตรจาก 1.5-1.7 หมื่นบาท เป็น 3 หมื่นบาท และไม่จำกัดจำนวนบุตร จากเดิมจำกัดไว้เพียง 3 คน และโครงสร้างภาษีใหม่ จะมีผลบังคับใช้สำหรับเงินได้พึงประเมินปีภาษี 2560 ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 มีนาคม 2561