ผิดชำระหนี้!เหตุผลสำคัญที่แรงงานไทยเป็นหนี้สูง


ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ แรงงานเป็นหนี้สินสูงสุดในรอบ 8 ปี ผิดชำระหนี้เหตุหาเงินมาหมุนไม่ทัน ด้านภาคธุรกิจเชื่อว่าในครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะฟื้นจากการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐ  แต่ไม่เห็นด้วยที่จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลสำรวจความคิดเห็น (โพล) สถานภาพแรงงานไทย ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน สำรวจ1,212 ตัวอย่าง วันที่ 18-24 เมษายน 2559 และโพลสถานภาพธุรกิจ วันแรงงานแห่งชาติ สำรวจ 600 ตัวอย่าง วันที่ 18-23 เมษายน 2559 พบว่า สถานภาพทางเศรษฐกิจของแรงงานไทยปี 2559 แย่สุดในรอบ 8 ปี นับจากปี 2552 เนื่องจากแรงงานมีหนี้สูงสุดในรอบ 8 ปี โดยแรงงาน 95.9% มีภาระหนี้ และมีหนี้ต่อครัวเรือนเฉลี่ย 119,061 บาท เพิ่มจากปี 2552 ที่มีสัดส่วน 48.51%

ทั้งนี้สอดรับกับสถานภาพธุรกิจ ของนายจ้าง มองเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/ 2559 จะถึงจุดต่ำสุดของทั้งปี จากกำลังซื้อที่ลดลงจากภัยแล้ง เศรษฐกิจโลกซบเซา ยอดขายลดลง และอาจส่งผลต่อการจ้างงานลดลง สอดคล้องกับอัตราว่างงานของไทยขณะนี้อยู่ที่ 0.9% เพิ่มขึ้นจาก 0.7% อย่างไรก็ดีภาคธุรกิจเชื่อว่าในครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะฟื้นจากการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐ  อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจกว่า 71.4% ไม่เห็นด้วย จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะปัญหาเศรษฐกิจกระทบต่อยอดขาย กำไรลดลง แต่ต้นทุนเพิ่มขึ้น มองว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เป็นการปรับล่วงหน้าไปไกลมาก และยังเป็นค่าแรงที่สูงอยู่แล้ว หากจะปรับขึ้นจะรับได้ 310.68 บาท