เหล็กไทย!ฟื้นตัว อานิสงส์โครงการภาครัฐ


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยความต้องการใช้เหล็กในไทยในปี 2559 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากกิจกรรมการก่อสร้างเป็นหลัก โดยเฉพาะการใช้เหล็กในการก่อสร้างโครงการภาครัฐ นอกจากนี้ ยังมีความต้องการใช้เหล็กเกรดพิเศษในกลุ่มยานยนต์มากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากมีการขยายโรงงานการผลิต บวกกับตลาดส่งออก    มีทิศทางขยายตัว ส่วนเหล็กทั่วไปที่มิใช่เหล็กคุณภาพสูงและเกรดพิเศษยังเผชิญการแข่งขันด้านราคา

ดังนั้น ผู้ผลิตเหล็กไทยควรหันไปผลิตเหล็กเกรดพิเศษและเหล็กคุณภาพสูงให้มากขึ้น โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง เพื่อขยายฐานลูกค้าระดับกลาง-บน ทั้งนี้ คาดว่าความต้องการใช้เหล็กในไทยในปี 2559 น่าจะมีปริมาณ 16.65 – 17.0 ล้านตัน ซึ่งอยู่ในกรอบหดตัวร้อยละ 0.5 ถึงขยายตัวร้อยละ 1.5 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากที่หดตัวร้อยละ 3.5 ในปีก่อนหน้า โดยที่แรงฟื้นตัวของอุปสงค์เหล็กในไทยในปีนี้มีอานิสงส์มาจากความต้องการใช้เหล็กก่อสร้างและเหล็กในกลุ่มยานยนต์เติบโต

อุตสาหกรรมเหล็ก ถือว่ายังเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่สำคัญของไทยและมีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรม   ปลายน้ำที่หลากหลาย เช่น ก่อสร้าง และยานยนต์ โดยในปี 2559 ความต้องการเหล็กในไทยมีแนวโน้มเติบโตเล็กน้อยจากปี 2558 ทั้งนี้ การที่ความต้องการเหล็กมีทิศทางที่ดีขึ้นนั้น มีสาเหตุมาจากการใช้เหล็กก่อสร้างที่มีจำนวนประมาณครึ่งหนึ่งของปริมาณการใช้เหล็กทั้งหมดมีแนวโน้มขยายตัว ซึ่งสะท้อนได้จากปริมาณการใช้เหล็กก่อสร้าง (ไม่รวมบางรายการที่ผลิตจากเหล็กแผ่นรีดร้อน) เช่น เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559กลับมาขยายตัวถึงร้อยละ 12.0 หลังจากที่ 5 เดือนที่ผ่านมา หดตัวโดยเฉลี่ยร้อยละ 17.4 ต่อเดือน (สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย) โดยเป็นผลมาจากการที่ภาครัฐพยายามเร่งรัดการลงทุนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคมทั้งโครงการต่อเนื่องและโครงการใหม่ จึงทำให้ความต้องการเหล็กก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้น