3ประสานภาครัฐ!เข้ามาจัดการ!ปลดหนี้นอกระบบSME!


3ประสานภาครัฐ!เข้ามาจัดการ!ปลดหนี้นอกระบบSME!

สสว.เร่งช่วยเอสเอ็มอีที่ขาดสภาพคล่อง สสว.ได้ร่วมกับกรมบังคับคดีและ เอสเอ็มอีแบงก์ ช่วยฟื้นฟูกิจการเอสเอ็มอีที่ขาดสภาพคล่อง 7,400 ราย มูลหนี้ 4.3 หมื่นล้านบาท หลังคลอดกฎหมายฟื้นฟูกิจการ

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่าขณะนี้ สสว.ได้ร่วมกับกรมบังคับคดี ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ให้สามารถยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการได้ เช่นเดียวกับ บริษัทจำกัด และ บริษัท มหาชน จำกัด ภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับ9) พ.ศ.2559 ด้านการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) หลังกฎหมายฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2559 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการฟื้นฟูกิจการ และปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ทั้งหลาย

โดยกฎหมายฉบับนี้ จะช่วยให้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ที่มีวงเงินหนี้ไม่เกิน 10 ล้านบาท ได้รับสิทธิประโยชน์คือ หากเจ้าหนี้หลักรับแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว เจ้าหนี้อื่นจะมาฟ้องไม่ได้ ซึ่งจะทำให้การปรับโครงสร้างหนี้ เป็นไปได้ง่ายขึ้น และโอกาสที่เจ้าหนี้เดิมจะให้เงินกู้เพิ่ม เพื่อให้เอสเอ็มอีมีสภาพคล่อง ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ในส่วนนี้ เอสเอ็มอี ที่เข้าร่วมโครงการปรับแผนธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถเอสเอ็มอี (Turn Around) ของ สสว.จะได้รับสิทธิประโยชน์ โดยจะประสานให้มีการยื่นแผนฟื้นฟู และมีโอกาสที่จะได้รับเงินกู้เงิน จากกองทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อยของ สสว. ที่มีวงเงิน 1 พันล้านบาท กู้ยืมได้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0% ระยะเวลา 7 ปี

โดยตั้งเป้าหมาย กลุ่ม Turn Around จะกลับมาฟื้นฟูกิจการได้ 50% นางสาลินี กล่าวอีกว่า จากข้อมูลล่าสุด เอสเอ็มอีที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ปัจจุบันมีอยู่ 6.1 แสนราย และมีการส่งงบการเงิน 4.2 แสนรายในกลุ่มนี้ มีเอสเอ็มอีที่มียอดหนี้สิน 3-10 ล้านบาท หรือประมาณ 51,000 ราย และเข้าข่ายต้องอาศัยกฎหมายฉบับนี้ แก้ปัญหาฟื้นฟูกิจการ ประมาณ 7,400 ราย มียอดหนี้สินรวม 43,000 ล้านบาท โดยพิจารณาจากยอดขายที่ลดลงติดต่อกัน 3 ปี นอกจากนี้ยังมีเอสเอ็มอี ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอีกหลายหมื่นราย ที่จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้เช่นกัน