กรมประมง มั่นใจอุตสาหกรรมส่งออกกุ้งไทย


ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการส่งออกกุ้งมากว่า 30 ปี จุดแข็ง คือ ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงและเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก สำหรับภาคอุตสาหกรรมกุ้งไทยมีระบบการผลิตรวมถึงการตรวจสอบคุณภาพกุ้งทั้งเนื้อ สารปนเปื้อน และเชื้อโรคอย่างเข้มงวด ก่อนส่งถือมือผู้บริโภคจึงขอให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่ากุ้งไทยปลอดภัยจากสารปนเปื้อนแน่นอน

ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ตามที่มีข่าวการฉีดสารทำให้หนืดเข้าในตัวกุ้งกุลาดำเพื่อเพิ่มน้ำหนักเผยแพร่ไปตามโลกโซเชียลมีเดียต่างๆ ส่งผลให้ผู้บริโภคในประเทศอาจเกิดความกังวลใจจากการทราบข่าวดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบภาพข่าวดังกล่าวพบว่าภาพข่าวดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นที่โรงงานท้องถิ่นในประเทศอื่นไม่ใช่กุ้งในประเทศไทย และถึงแม้สารดังกล่าวจะปลอดภัยแต่ก็ถือเป็นการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์และไม่มีความรับผิดชอบ

สำหรับสารที่ฉีดมีลักษณะหนืดคล้ายเจลาติน เรียกว่า Carboxy Methyl cellulose (CMC)  เป็นวัตถุที่ปลอดภัยต่อการบริโภค สังเคราะห์จากพืช อุตสาหกรรมต่างๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย อย่างเช่นอุตสาหกรรมยา ใช้ทำแคปซูลยา ทั้งแคปซูลชนิดอ่อนและชนิดแข็ง อุตสาหกรรมถ่ายภาพ  ใช้เป็นวัสดุเคลือบฟิล์ม แผ่นกรองกระดาษพิมพ์เขียว อุตสาหกรรมอาหาร ใช้เป็นสารให้ความคงตัวในไอศครีม (Starbilizer) ใช้เป็นสารให้ความใสในน้ำผลไม้ ไวน์ เบียร์ โดยทำปฏิกิริยากับพวกแทนนิน เพคติน และสารอื่นที่ทำให้เกิดความขุ่น

อย่างไรก็ตาม กรมประมงขอยืนยันว่าอุตสาหกรรมกุ้งไทยมีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน สะอาด ปลอดภัย และมีการตรวจสอบคุณภาพและสารตกค้างในกุ้งอย่างเข้มงวด ไม่มีการฉีดสารเจลาติน (CMC) เข้าไปในตัวกุ้งอย่างแน่นอนเพราะนอกจากจะเป็นการกระทำที่ไม่รับผิดชอบต่อผู้บริโภคแล้ว อีกทั้งยังไม่คุ้มต่อการลงทุนเนื่องจากต้องใช้แรงงานจำนวนมากฉีดกุ้งทีละตัว ดังนั้นผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่ากุ้งไทยสะอาด ปลอดภัยจากสารตกค้างอย่างแน่นอน