แนะรัฐ ยกระดับอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ไทย


แนะรัฐ ยกระดับอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ไทย

ภาคเอกชน แนะรัฐบาลยกระดับอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ไทย เพื่อให้กระบวนการผลิตวัตถุดิบของไทย เติบโตในระดับที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ในฐานะเลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กล่าวว่า ขณะนี้ทางสมาคมฯ ต้องนำเข้าข้าวสาลีและกากข้าวโพดเอทานอล หรือ DDGS เพิ่มขึ้น ทดแทนผลผลิตข้าวโพดในประเทศที่ขาดแคลนประมาณ 3 ล้านตัน จากภาวะภัยแล้ง เพื่อรองรับความต้องการผลิตอาหารสัตว์ปีนี้ที่ 18.6 ล้านตัน

โดยสาเหตุที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบมากขึ้น ทั้งกลุ่มโปรตีนและแป้ง เนื่องจากกระบวนการผลิตของไทยมีลักษณะทรงตัว ขณะที่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 7.2 ต่อปี แต่ยืนยันว่าผู้ผลิตอาหารสัตว์ยังคงรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรในราคา 8.50 บาทต่อกิโลกรัม ตามนโยบายพยุงราคาของกระทรวงพาณิชย์ การนำเข้าจึงไม่ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบในประเทศตกต่ำตามที่มีแถลงการณ์จากสภา เกษตรกรแห่งชาติ ขอให้รัฐบาลพิจารณาระงับการนำเข้าวัตถุดิบดังกล่าว

ทั้งนี้ ฃสมาคมฯ มีแผนจะเดินทางไปยื่นหนังสือชี้แจงข้อร้องเรียนของสภาเกษตรกรแห่งชาติ ต่อนายกรัฐมนตรีภายในสัปดาห์นี้ รวมถึงอยากเห็นการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาล 2 เรื่อง เพื่อให้กระบวนการผลิตวัตถุดิบของไทยเติบโตในระดับที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรม ผลิตอาหารสัตว์ คือ 1. การจัดหาพื้นที่เพาะปลูกวัตถุดิบที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น ซึ่งเบื้องต้นมีการนำร่องใช้พื้นที่ปลูกข้าวมาปลูกข้าวโพดแล้ว 100,000 ไร่ และ 2. การพัฒนาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก 700 กิโลกรัม เป็น 900 กิโลกรัม

สำหรับธุรกิจอาหารสัตว์ เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานอาหารของไทย มีมูลค่าตลาดประมาณ 600,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยรองรับการเป็นครัวของโลกตามนโยบายรัฐบาล ดังนั้นหากไม่นำเข้าวัตถุดิบเข้ามาเสริมระบบจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันทางต้นทุนลดลง อีกทั้งนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนให้มีการส่งออกเสรี แต่ควบคุมการนำเข้าวัตถุดิบ จะส่งผลกระทบต่อความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานอาหาร