”เอสเอ็มอีแบงก์” ปรับกระบวนการสินเชื่อเหลือ 20 วันอนุมัติ


”เอสเอ็มอีแบงก์” ปรับกระบวนการสินเชื่อเหลือ 20 วันอนุมัติ

เอสเอ็มอีแบงก์ ปรับกระบวนการสินเชื่อเหลือ 20 วันอนุมัติได้ ส่งผลให้ธนาคารสามารถอนุมัติปล่อยสินเชื่อได้เร็ว

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อยแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า ฐานะทางการเงินของธนาคารมีความมั่นคงมากขึ้น เนื่องจากสามารถลดต้นทุนทางการเงินลง โดยเฉพาะต้นทุนเงินฝากลดลงประมาณ 10 สตางค์ หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 95 ล้านบาทต่อปี (เฉลี่ยเดือนละ 7-8 ล้านบาท) เนื่องจากผู้ฝากที่เป็นหน่วยงานรัฐเชื่อมั่นแบงก์มากขึ้น โดยปัจจุบันฐานเงินฝากของธนาคารอยู่ที่ประมาณ 95,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ปรับปรุงกระบวนการปล่อยสินเชื่อใหม่ โดยแยกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มสินเชื่อวงเงินต่ำกว่า 1 ล้านบาท กลุ่มสินเชื่อต่ำกว่า 1-5 ล้านบาท และกลุ่มสินเชื่อต่ำกว่า 5-15 ล้านบาท ขณะเดียวกันได้แบ่งหน้าที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดและเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อออกจากกัน ทำให้ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารสามารถอนุมัติปล่อยสินเชื่อได้เร็วขึ้น โดยเฉลี่ยเหลือ 20 วัน จากปี 2558 ใช้เวลาประมาณ 40 วัน และหากกู้สินเชื่อ SMEs บัญชีเดียว โดยยื่นงบการเงินกับกรมสรรพากร โดยจะต้องมีกำไรติดต่อกัน 2 ปี จะอนุมัติได้ภายใน 5 วันเท่านั้น

ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2559 นี้ ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้าง 87,927 ล้านบาท โดยสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 13,242 ล้านบาท คิดเป็นผู้ประกอบการ จำนวน 4,349 ราย หรือเฉลี่ยกู้ต่อราย 3 ล้านบาท  ขณะที่สินเชื่อ SMEs บัญชีเดียวที่เปิดตัวเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2559 วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท มีผู้ประกอบการได้ติดต่อแล้วเป็นวงเงินรวมกว่า 6,000 ล้านบาท (ข้อมูล ณ 20 มิ.ย.) ซึ่งคิดเป็นเอสเอ็มอีจำนวน 2,300 ราย ซึ่งในจำนวนดังกล่าว ธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อแล้ววงเงิน 1,639 ล้านบาท รวมเป็นเอสเอ็มอี 715 ราย

นายมงคลกล่าวถึงยอดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ว่า ล่าสุด (31 พ.ค.) เอ็นพีแอลธนาคารอยู่ที่ 21,020 ล้านบาท คิดเป็น 23.91% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยราว 67 ล้านบาท จากเดือน เม.ย.ที่มียอดเอ็นพีแอล 20,953 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่เกิดจากปัญหาภัยแล้ง พืชผลการเกษตรตกต่ำ ส่งผลต่อลูกหนี้รายย่อยที่อ่อนแออยู่แล้ว ยิ่งได้รับผลกระทบไปด้วย ดังนั้น ธนาคารจึงได้จัดทีมลงพื้นที่เข้าดูแลอย่างใกล้ชิด พร้อมช่วยเหลือปรับโครงสร้างตามสภาพความเป็นจริงทุกราย

นายมงคลกล่าวด้วยว่า ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้ขยายระยะเวลาโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan) ดอกเบี้ยคงที่ 4% ต่อปี ออกไปถึง 31 ธ.ค. 2559 จากเดิมสิ้นสุดใน 30 มิ.ย.นี้ โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการขอสินเชื่อเข้ามาจำนวนมากสิ้นสุดการสนทนา